แทบทุกคนต่างอยากมีการวางแผนการเงินที่ดี แต่อีกหลายคนอาจไม่มีแพลนอะไรเลยก็ได้ และคงมีบางคนที่ยังเก็บเงินแบบสะเปะสะปะ ไม่มีหลักการใดๆ คุณจึงไม่ได้เห็นว่า เงินที่ตัวเองเก็บอยู่นั้นงอกเงยหรือลดลงอย่างไรบ้างแล้ว
หากคุณไม่เริ่มวางแผนการเงินแต่เนิ่นๆ เมื่ออายุมากขึ้น อาจจะมีปัญหาทางการเงินตามมาก็เป็นได้ หรือยามเกษียนแล้วไม่มีเงินเหลือใช้ เรามีหลักการวางแผนการเงิน โดยใช้เทคนิคที่เรียกว่า “ปิรามิด” มาแนะนำให้คุณลองใช้วิธีการนี้กันดู เป็นการวางแผนการเงินที่ง่าย ไม่ซับซ้อนอะไร โดยจะแบ่งเป็น 6 ขั้นตอน ดังนี้
Cash Flow Management การจัดการวางแผนใช้จ่ายและวางแผนหนี้สิน
ขั้นเริ่มต้นเลย คือการจัดการกับรายรับที่มีเข้ามาของคุณ เพราะถึงแม้คุณจะมีรายรับมาก แต่หากบริหารเงินไม่เป็นก็มีสิทธิ์ที่จะล้มเหลวได้ ซึ่ง Cash Flow เป็นฐานใหญ่ที่คุณสามารถนำมาลงทุนในการสร้างปิรามิดที่มั่นคงได้ เราแนะนำให้คุณควรจัดสรรเงินจากรายรับที่ 100% แบ่งออกเป็นดังนี้
- 30% แบ่งเป็นเงินออม เงินลงทุน และสำคัญคือ เงินสำรองฉุกเฉินควรมีไว้ที่ 3-6 เท่าของค่าใช้จ่าย เผื่อไว้ในกรณีฉุกเฉิน อย่าง ออกจากงานกะทันหัน เจ็บป่วย คุณสามารถเก็บเงินส่วนนี้ได้ด้วยการฝากธนาคาร หรือซื้อเป็นกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นไว้ก็ได้ เงินเดือน 20,000 บาท แบ่งออมและลงทุนทุกเดือนที่ 6,000 บาท เป็นต้น
- 30% สำหรับเป็นค่าภาระหนี้สินต่างๆ เช่น ค่าผ่อนรถ ค่าผ่อนบัตรเครดิต โดยที่สัดส่วนของหนี้สินที่คุณควรอยู่ที่ราวๆ 15-30% มิฉะนั้นจะกลายเป็นว่าคุณมีหนี้สินเกินตัว เช่น เงินเดือน 20,000 บาท ภาระหนี้สินควรไม่เกิน 6,000 บาท
- 40% เป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน ที่คุณต้องกันไว้ใช้ในแต่ละเดือน ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทางไปทำงาน ค่าอาหาร เป็นต้น หากเรามีเงินเดือน 20,000 บาท ค่าใช้จ่ายรายเดือน ควรกันไว้ที่ 8,000 บาท ถ้าเหลือก็เก็บไปสมทบกับเงินออมได้
Protection การป้องกันความเสี่ยง
ขั้นถัดมาจากฐาน คือ Protection การป้องกันความเสี่ยง ถือเป็นขั้นที่สำคัญเช่นกันและไม่ควรที่จะมองข้าม เพื่อเป็นฐานปิรามิดที่แข็งแรงยิ่งขึ้นของคุณ โดยคุณควรแบ่งการวางแผนประกันความเสี่ยง ออกเป็น ประกันภัยด้านทรัพย์สิน และประกันเกี่ยวกับตนเอง ดังนี้
- ประกันภัยด้านทรัพย์สิน ได้แก่ การทำประกันสินทรัพย์ที่คุณมี เช่น บ้าน และรถยนต์ ประกันอัคคีภัยที่พักอาศัย ประกันภัยรถยนต์ เป็นต้น
- ประกันเกี่ยวกับตนเอง ได้แก่ ประกันชีวิต ประกันสุขภาพ ประกันโรคร้ายแรง และประกันอุบัติเหตุ การทำประกันชีวิตช่วยสร้างความมั่นคงให้กับครอบครัวรวมไปถึงตัวคุณเองด้วย ซึ่งประกันแต่ละประเภทก็จะมีเงื่อนไขและสิทธิประโยชน์ต่างกันออกไป ฉะนั้นคุณควรศึกษาก่อนลงมือทำ
Saving & Investment การออมและการลงทุนรวมกัน
เมื่อฐานขั้นที่ 1 และ 2 ของคุณมั่นคงแล้ว ก็ไปต่อกันที่ขั้นที่ 3 และขั้นที่ 4 ซึ่งทั้งสองขั้นจะอยู่ในฐานเดียวกัน เป็นขั้นของการออมเงินและการลงทุน โดยแบ่งในการออมหรือลงทุนออกเป็นเป้าหมายออกเป็น 3 ระยะด้วยกัน คือ
- ระยะสั้นไม่เกิน 3 ปี ได้แก่ การออมเงินกับบัญชีเงินฝากธนาคาร เช่น เปิดบัญชีฝากประจำ 3 ปี หรือบัญชีออมทรัยพ์ รวมไปถึงการลงทุนในกองทุนตลาดเงิน ระยะสั้น ที่มีสภาพคล่อง
- ระยะปานกลาง 3-7 ปี ได้แก่ การลงทุนในกองทุนผสม หรือ การลงทุนที่มีความเสี่ยงระดับปานกลาง
- ระยะยาว 7 ปีขึ้นไป เน้นการลงทุนในรูปแบบของการสะสมทรัพย์ อย่างประกันชีวิต หรือหุ้น กองทุนรวมหุ้น อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ น้ำมัน ลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลางถึงสูง
**การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุน
Tax วางแผนด้านภาษี
ขั้นที่ 5 นี้ คือ การวางแผนด้านภาษี ก่อนที่คุณจะไปถึงยอดของปิรามิด คุณต้องผ่านขั้นที่ 5 เป็นการวางแผนการเงินที่จะทำให้คุณได้กันเงินหรือเผื่อเงินไว้สำหรับภาษีโดยเฉพาะ เพราะภาษีถือเป็นรายจ่ายที่มาเงียบๆ แต่มาแน่นอน มีแทบจะในทุกการออมและการลงทุน ฉะนั้นต้องตรวจสอบภาษีที่คุณต้องจ่ายในแต่ละการลงทุนให้ดี และควรศึกษาเรื่องการลดหย่อนภาษีต่างๆ ที่จะนำมาใช้ไว้ด้วย เช่น ค่าลดหย่อนบุตร ค่าลดหย่อนบิดามารดา และผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ เช่น กองทุน ประกันชีวิต และประกันสุขภาพของผู้มีเงินได้ เป็นต้น
Wealth Transfer หรือ Estate Planning การวางแผนมรดก
ยอดปิรามิด ขั้นที่ 6 Wealth Transfer หรือการวางแผนมรดก ซึ่งการวางแผนการเงินที่ดี คือคุณควรต้องวางแผนเผื่อไปยามเกษียน และถึงคนที่อยู่ภายหลัง ที่จะรับสืบทอดทรัยพ์สินของคุณต่อไป หรือที่เรียกว่า การวางแผนมรดก นั่นเอง
จะเห็นว่าการวางแผนการเงินแบบปิรามิด ก็เป็นอีกรูปแบบหนึ่งที่ให้คุณวางแผนจัดสรรการเงินได้อย่างมีระบบ มีแบบแผน โดยใช้รูปแบบของปิรามิด มาเป็นตัวกำหนดแผนการเงินในแต่ละขั้น เหมาะทั้งกับคนที่มีการวางแผนการเงินที่ต้องการศึกษาเพิ่มเติม คนที่ยังเก็บเงินอย่างไม่เป็นระบบ หรือคนที่ไม่มีแผนการเงิน ซึ่งหากคุณสามารถทำได้ตามขั้นตอนทั้ง 6 ขั้นแล้วละก็ ฐานการเงินของคุณจะมีความมั่นคงและประสบความสำเร็จ
Sources:
https://www.moneyunder30.com
https://www.finnomena.com
https://aommoney.com