หน้าหลัก Plearn เพลิน > Innovation > 4 เทคโนโลยีจากอนาคต ที่ภาคธุรกิจต้องห้ามพลาด
0 Share
0

ต้องยอมรับว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีนั้นก้าวไกลเกินกว่าที่จินตนาการไว้พอสมควร แถมยังพัฒนากันอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว เทคโนโลยีที่จะได้เห็นต่อไปนี้ คาดการณ์ว่าจะมี ผลกระทบได้ชัดเจนใน 5 - 10 ปีข้างหน้า เพื่อเป็นข้อมูลให้กับภาคธุรกิจและบุคคลทั่วไปเตรียมพร้อมรับมือกับอนาคต ซึ่งบางเทคโนโลยีอาจจะใกล้เป็นผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ ๆ ได้แล้ว แต่บางอย่างอาจยังเป็นต้นแบบหรือการทดสอบเบื้องต้น แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคตอันใกล้ มาดูกันว่ามีอะไรบ้าง

เนื้อสัตว์ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ (The cow-free burger)

เนื้อสัตว์ที่เกิดจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ (The cow-free burger)

สหประชาชาติคาดการณ์กันว่าในปี 2050 จะมีประชากรโลกประมาณ 9.8 พันล้านคน และคนก็จะบริโภคเนื้อสัตว์เยอะขึ้นถึง 70% จากที่เราบริโภคกันอยู่ในทุกวันนี้ แม้อุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่กลับส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมอยู่ดี อย่างเช่นโปรตีนที่มาจากสัตว์จะใช้น้ำมากกว่าพืช 4-25 เท่า และใช้พื้นที่มากกว่า 6-17 เท่า ซึ่งการจะให้คนหยุดทานเนื้อก็เป็นไปได้ยาก ตอนนี้จึงมีการทำ lab-grown ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 แบบคือ
  1. ทำมาจากกล้ามเนื้อของสัตว์ เวอร์ชั่น lab-grown รสชาติที่ได้ค่อนข้างใกล้เคียงของจริงมาก คาดว่าจะสามารถวางจำหน่ายได้ในปีหน้า แต่สุดท้าย lab-grown ก็ไม่ได้ดีต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเท่าไหร่นัก
  2. แบบ plant-based ทำมาจากโปรตีนถั่ว มันฝรั่ง หรือพืชที่มีโปรตีนอื่น ๆ และนำไปทำให้มีความใกล้เคียงกับเนื้อ ซึ่งแบบ plant-based นั้นส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
ซึ่งแบบที่ 2 เริ่มมีการจำหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตและร้านอาหารกว่า 30,000 แห่งในสหรัฐอเมริกา และขายไปแล้วมากกว่า 25 ล้านชิ้นเลยทีเดียว เรียกว่าเป็นการมองหาวัตถุดิบที่ยั่งยืนอีกชนิดที่คาดการณ์ว่าในอนาคตคนจะเริ่มหันมาเลือกวัตถุดิบเนื้อสัตว์แบบ plant-based ส่งผลต่อทั้งอุตสาหกรรมการผลิตเนื้อสัตว์ต่าง ๆ และร้านอาหารอีกจำนวนมากแน่นอน

เซลล์แสงอาทิตย์เพอรอฟสไกต์ (Perovskite Solar Cell)

เซลล์แสงอาทิตย์เพอรอฟสไกต์ (Perovskite Solar Cell)

เซลล์แสงอาทิตย์แบบเพอรอฟสไกต์ มีโครงสร้างผลึกที่ดูดซับแสงและเปลี่ยนแสงอาทิตย์เป็นพลังงานไฟฟ้าได้ดี และยังสามารถขึ้นรูปได้ในลักษณะสารละลายคล้ายกับน้ำหมึกพิมพ์ เพื่อนำไปพิมพ์บนแผ่นฟิล์มหรือพื้นผิวต่าง ๆ โดยมีต้นทุนการผลิตต่ำลง 30 – 50% ของเซลล์แสงอาทิตย์แบบซิลิคอน มีการประเมินอีกว่าในอีก 5 – 6 ปีข้างหน้า ตลาดของเซลล์แสงอาทิตย์น่าจะเติบโตไปได้ถึง 1.4 แสนล้านเหรียญ ด้วยข้อดีของเซลล์แบบนี้ที่มีน้ำหนักเบาและโค้งงอได้ไม่เสียหาย แน่นอนว่าถ้าให้เห็นภาพการใช้งานของเซลล์แสงอาทิตย์ง่าย ๆ ก็คือ การใช้เพื่อเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าในบ้าน ซึ่งช่วยเซฟค่าไฟได้พอสมควร ในปัจจุบันราคาของเซลล์แสงอาทิตย์ค่อนข้างแพง แต่ถ้าเซลล์แสงอาทิตย์แบบเพอรอฟสไกต์เข้ามามีบทบาทมากขึ้น จะช่วยลดต้นทุนทั้งในแง่ของอุตสาหกรรมการผลิตและการซื้อขายเซลล์แสงอาทิตย์แบบเพอรอฟสไกต์ ทำให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงและใช้งานได้ทั่วถึงมากขึ้นด้วย

การคำนวณและวิศวกรรมควอนตัม (Quantum Computing & Engineering)

การคำนวณและวิศวกรรมควอนตัม (Quantum Computing & Engineering)

วิศวกรรมควอนตัม เป็นการนำองค์ความรู้จากวงวิชาการ มาสานต่อให้เกิดผลผลิตที่ใช้งานได้จริง เช่น การแข่งขันกันพัฒนาและสร้างเครื่อง Quantum Computer ของบริษัทชั้นนำที่กำลังแข่งขันกันอย่างดุเดือด ซึ่งตัว Quantum Computer นี้คือ Hardware ที่จะรองรับการทำงานของ Software โดยย่อส่วนเล็กลงมาเรื่อย ๆ จนเหลือเพียงแค่ชิปขนาดเล็ก ที่เป็นส่วนหนึ่งของอุปกรณ์ไฮเทคอื่น ๆ ที่แม่นยำและรวดเร็ว เช่น การสร้างเซนเซอร์วัดแรงโน้มถ่วงความไวสูง เพื่อใช้สำรวจทางธรณีวิทยา และค้นหาวัตถุใต้พื้นผิวสิ่งก่อสร้าง หรือการตรวจวัดทางชีวภาพ เช่น วัดคุณภาพน้ำที่มี sensitivity สูงกว่าเครื่องมือทั่วไปนับหมื่นเท่า รวมไปถึงชิปสำหรับนาฬิกาอะตอม สำหรับใช้เทียบค่าเวลาสากล ที่มีความเม่นยำถึงระดับนาโนวินาที ซึ่งจะสามารถรองรับ Transaction ในระบบธนาคาร หรือคำสั่งซื้อในตลาดหลักทรัพย์ที่มีปริมาณถึง 100 ล้านคำสั่งต่อวินาทีได้

แบตเตอรี่ลิเทียมยุคหน้า (Next Generation Lithium Ion Batteries)

แบตเตอรี่ลิเทียมยุคหน้า (Next Generation Lithium Ion Batteries)

ปัญหาอย่างหนึ่งของสมาร์ทโฟนที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันคือ หลังจากใช้ไปสักพัก แบตเตอรี่จะเสื่อมและใช้หมดไวมาก ทำให้ต้องพกเพาเวอร์แบงก์ติดตัวไปด้วย ทำให้เกิดภาพลักษณ์ในเชิงลบเรื่องขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มากเกินไป สำหรับแบตเตอรี่ในฝัน สเปกคือ ใช้งานได้นานขึ้น ชาร์จได้ไวขึ้น ปลอดภัยมากขึ้น แต่น้ำหนักเบาลง ราคาถูกลง และต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งแบตเตอรี่ลิเทียม–ซัลเฟอร์ คือสิ่งที่จะตอบโจทย์เหล่านี้ เพราะจุพลังงานได้มากกว่าแบบลิเทียมไออน 2-4 เท่า แต่ราคาถูกกว่า ในแง่ของภาคธุรกิจ จะช่วยในเรื่องการประหยัดต้นทุนมากขึ้น เพราะอุตสาหกรรมการผลิตใช้กำลังการผลิตเท่าเดิม แต่ได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น ผลิตได้มากขึ้นและใช้งานได้นานขึ้น นำไปใช้ในยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้บริโภคก็สามารถได้สินค้าที่มีคุณภาพมากขึ้น และเป็นการลดขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้อีกด้วย

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยีก้าวหน้าไปรวดเร็วมาก ถึงแม้ว่าบางอย่างยังอยู่ในขั้นตอนของการพัฒนาเพื่อให้ออกมาใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพที่สุดโดยให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด บางอย่างก็อาจดูไกลตัว แต่บางอย่างก็อยู่ใกล้ตัวกว่าที่คิด และไม่แน่ว่าเราอาจมีบทบาทได้ทั้งเป็นผู้ใช้ประโยชน์ หรือผู้สร้างและสนับสนุนเทคโนโลยีเหล่านี้ ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตต่อไปข้างหน้าจะไม่หยุดเพียงแค่นี้อย่างแน่นอน

ที่มา :
Powered By