ตรรก บุนนาค

Global Markets ธนาคารกรุงศรีผงาดครองฐานลูกค้าญี่ปุ่นในไทย

เรื่องโดย ภัชราพร ช้างแก้ว


กลุ่มธุรกิจ Global Markets ของธนาคารกรุงศรีโชว์ผลดำเนินงานเติบโตแบบก้าวกระโดดในไตรมาสแรกปีนี้ หลังจากมีการขยายขอบเขตธุรกิจให้ครอบคลุมมากขึ้น ครองส่วนแบ่งกลุ่มลูกค้าบริษัทญี่ปุ่นในไทยมากที่สุด พร้อมตั้งเป้าการเติบโตของรายได้ 8% ในแผนงานระยะกลาง 3 ปี ของธนาคาร โดยนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการตลาดเงินในรูปแบบ One-stop financial markets solutions ตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกเซ็กเมนต์
 

ยกระดับธุรกิจ จากการควบรวม BTMU

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันทางการเงินชั้นนำระดับโลก ได้ควบรวมกิจการธนาคารแห่งโตเกียว-มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ จำกัด (BTMU) สาขากรุงเทพฯ เข้าเป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรี เสร็จสมบูรณ์เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้สินทรัพย์รวมของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 1.632 ล้านล้านบาท (ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2558)

ตรรก บุนนาค ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้าน Global Markets ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า Synergy จากการผนึกกำลังครั้งนี้มีผลทำให้เกิดการยกระดับกลุ่มงานบริหารเงิน (Treasury) ขึ้นเป็นกลุ่มงาน Global Markets ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการดำเนินธุรกิจของธนาคาร ทำให้สามารถรองรับปริมาณการทำธุรกรรมที่มี volume ขนาดใหญ่ๆ ได้ นำไปสู่การนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการตลาดเงิน ตลาดทุนในรูปแบบของ One-stop financial markets solutions ที่มุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้าในทุกเซ็กเมนต์

“ธุรกรรม Global Markets ของ BTMU สาขากรุงเทพฯ ที่ผ่านมา มีส่วนแบ่งการตลาดในกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่นในไทยสูงที่สุด กล่าวได้ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทญี่ปุ่นในไทยที่มีกว่า 5,000 แห่ง เป็นลูกค้าของ BTMU ดังนั้น หลังการโอนย้ายกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาที่กรุงศรี ทำให้ปัจจุบัน รายได้ของ Global Markets ประมาณ 60% มาจากกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่น”

นอกจากนี้ ลูกค้าของกลุ่มธุรกิจ Global Markets ยังประกอบไปด้วยบริษัทไทย และ Thai Global ที่เป็นบริษัทไทยขนาดใหญ่ที่มีธุรกรรมการค้าการลงทุนในหลายประเทศ  บรรษัทข้ามชาติ  และกลุ่มของ SME ซึ่งมีทั้ง SME ไทยและ SME ญี่ปุ่นในไทย รวมทั้งสถาบันการเงิน  และลูกค้ารายย่อย
 
“ดังนั้นในปีนี้เราจึงมุ่งให้บริการที่ครอบคลุมลูกค้าทุกเซ็กเมนต์ตั้งแต่กลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น จนถึงลูกค้ารายย่อย ซึ่งรายได้ไตรมาสแรกนี้จะสะท้อนจากการทำธุรกรรมการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ รวมทั้งการค้าระหว่างแนวชายแดน ซึ่งมีการทำธุรกรรมโอนเงินเข้าออก โดยใช้สกุลเงินดอลลาร์สรอ. เป็น settlement currency เป็นหลัก ส่วนที่รองลงมาคือสกุลเงินเยนและยูโร”  

ตรรกกล่าวว่าผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในปีนี้อีกส่วนหนึ่งมาจากรายได้จากการลงทุน อันเป็นผลมาจากการที่ธนาคารมีสภาพคล่อง โดยมีแหล่งที่มาของเงินทุน ที่มีต้นทุนถูกลง จากการเป็นสมาชิกในเครือ MUFG ทำให้กรุงศรีสามารถกระจายสภาพคล่องส่วนเกินบางส่วนไปยังการลงทุนได้มากขึ้น

ตรรก บุนนาค
“ภาพรวมของผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกนี้เรียกว่าก้าวกระโดดจากปีที่แล้ว จากการที่ธนาคารได้ควบรวมกับ BTMU สาขากรุงเทพฯ ทำให้เห็นชัดเจนว่าแหล่งที่มาของรายได้ และโอกาสทางธุรกิจต่างๆ มีเพิ่มขึ้นมาก”
 
“โดยมีการลงทุนในตลาดพันธบัตรรัฐบาลไทย ตลาดตราสารหนี้ของภาคเอกชนไทยที่ระดมเงินโดยการออกหุ้นกู้ต่างๆ มีบางส่วนที่ไปลงทุนในไทย ขณะเดียวกันเรายังมีแผนกระจายการลงทุนออกไปสู่ตลาดระดับภูมิภาคเพื่อพยายามเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุน เนื่องจากว่าในไตรมาสแรก flow ของการลงทุนเริ่มมีการไหลออกจากภูมิภาคเอเชีย เนื่องจาก QE ของสหรัฐที่ยุติลง ประกอบกับ QE ของยุโรปที่เริ่มเข้ามา จึงทำให้เราเห็นโอกาสการลงทุนในส่วนนี้ โดยส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนของธนาคารเองและอีกส่วนก็มาจากการให้บริการแก่ลูกค้าคอร์ปอเรทที่ต้องการลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทน” ตรรกกล่าว

นอกจากนี้ กลุ่มลูกค้าสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีพอร์ตลงทุน เช่น บริษัทประกัน และบริษัทจัดการกองทุน ก็เป็นลูกค้าอีกกลุ่มหนึ่งที่กลุ่มธุรกิจ Global Markets ให้บริการอยู่ 

ตรรกกล่าวว่า “Global Markets ในปีนี้มีสัดส่วนรายได้ประมาณเกือบ 20% ของรายได้รวมทั้งหมด แต่หากดูเฉพาะรายได้จากดอกเบี้ย ก็น่าจะมาจาก Global Markets เป็นหลัก นอกจากนั้นยังมีรายได้จากกลุ่ม Wealth management, Bancassurance และ Transactional Banking”

“ดังนั้นโดยภาพรวมของผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกนี้เรียกได้ว่าก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว จากการที่ธนาคารได้ควบรวมกับ BTMU สาขากรุงเทพฯ ทำให้เห็นชัดเจนว่าแหล่งที่มาของรายได้ และโอกาสทางธุรกิจต่างๆ มีเพิ่มมากขึ้น” ตรรกกล่าว

ทั้งนี้กรุงศรีได้ประกาศแผน 3 ปีในการขับเคลื่อนธุรกิจ หรือที่เรียกว่า Mid-Term Business Plan ซึ่งในส่วนของกลุ่มธุรกิจ Global Markets มีการตั้งเป้าการเติบโตในเชิงรายได้ไว้ประมาณ 8% ในระหว่างปี 2558-2560 

ตรรกยอมรับว่า “เป็นเรื่องท้าทายในการที่เพิ่มการเติบโตรายได้ในตลาดที่มีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น” แต่เขาเชื่อมั่นว่าด้วยจุดแข็งที่แตกต่างของกลุ่มธุรกิจ Global Markets ของกรุงศรีจากธนาคารอื่นๆ ในไทยจะช่วยดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการมากยิ่งขึ้น
 

ผลิตภัณฑ์และบริการของ Global Markets

กล่าวได้ว่า Global Markets เป็นหนึ่งใน 3 กลุ่มผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ให้ความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าอีก 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ อันได้แก่  Trade Finance และ Transactional Banking
 
"ธุรกรรม Global Markets ของ BTMU สาขากรุงเทพฯ นั้นครอบคลุมลูกค้าญี่ปุ่นในไทย โดยมีส่วนแบ่งการตลาดมากที่สุด กล่าวได้ว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของบริษัทญี่ปุ่นในไทยที่มีกว่า 5,000 แห่ง เป็นลูกค้าของ BTMU ดังนั้นหลังการได้รับการโอนย้ายกลุ่มลูกค้าธุรกิจญี่ปุ่นเข้ามาที่เป็นส่วนหนึ่งของกรุงศรี"

ผลิตภัณฑ์และบริการที่นำเสนอภายใต้กลุ่มธุรกิจ Global Markets ประกอบด้วย บริการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ บริการตราสารอนุพันธ์เพื่อบริหารความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน บริการการบริหารและจัดการความเสี่ยง และผลิตภัณฑ์เพื่อการลงทุน  ซึ่งช่วยสนับสนุนธุรกิจในการทำการค้าระหว่างประเทศและบริหารความเสี่ยงทางการเงินได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ

ตรรกกล่าวถึงผลิตภัณฑ์ที่สำคัญคือบริการอัตราแลกเปลี่ยนหรือ Foreign Exchange (FX) เพราะการค้าระหว่างประเทศมักใช้สกุลเงินต่างประเทศซึ่งมีอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาเป็นหนึ่งในความเสี่ยงหลัก

“การเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นสิ่งที่มาควบคู่กับการทำการค้าระหว่างประเทศ ดังนั้น FX จึงเป็นผลิตภัณฑ์หลักที่ธนาคารให้บริการแก่ลูกค้าในเกือบทุกเซ็กเมนต์ รวมทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก และเนื่องจากในแต่ละสกุลเงินจะมีความผันผวน ดังนั้นการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือที่เรียกว่า FX Hedging ก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในปีนี้ที่อัตราแลกเปลี่ยนในหลายเงินสกุลหลักมีความผันผวนสูง”

ธนาคารมีกลุ่มผลิตภัณฑ์ FX Hedging ทั้งที่เป็นผลิตภัณฑ์พื้นฐาน (Plain Vanilla) ในการใช้ป้องกันความเสี่ยง เช่น Forward Exchange Contract หรือ Currency Option และผลิตภัณฑ์ที่มีโครงสร้างที่ซับซ้อนขึ้น เช่น  Exotic FX Hedging Product ซึ่งเป็นการรวมเอาตราสารอนุพันธ์ประเภท Option และ Forward อยู่ด้วยกัน

ตรรกบอกว่า “จุดเด่นของกรุงศรีคือเราสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อให้ตรงกับความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจของลูกค้าซึ่งอาจแตกต่างกันไปตามประเภทธุรกิจ ตามโจทย์ที่ลูกค้ากำหนดมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องระยะเวลา สกุลเงิน  หรือต้นทุน คือเราสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ตอบสนองความต้องการที่เฉพาะเจาะจงของลูกค้าซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดในการดำเนินธุรกิจโดยใช้ลูกค้าเป็นศูนย์กลาง”

ผลิตภัณฑ์ที่สำคัญอีกประเภทเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับกลุ่มลูกค้าที่เผชิญกับความเสี่ยงอัตราดอกเบี้ยที่มีทั้งขึ้นและลง ดังนั้นในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย ธนาคารจะมีผลิตภัณฑ์ที่ป้องกันความเสี่ยง เช่น สัญญาสวอปอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Swap), สัญญาสวอปอัตราแลกเปลี่ยน (currency swap)

“รวมแล้วตอนนี้ธนาคารมีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ป้องกันความเสี่ยงประมาณ 80 ตัว ทั้ง FX, Interest rate และ Hedging” ตรรกกล่าว

นอกจากนี้ ตรรกเล่าว่ากรุงศรียังมีบริการให้ข้อมูลเชิงลึก หรือ Market Intelligence รวมทั้งบทวิเคราะห์วิจัยตลาดระดับโลก โดย Morgan Stanley ช่วยสนับสนุนการตัดสินใจของลูกค้า และการดูแลให้คำแนะนำ (Advisory) อย่างรวดเร็ว

ในด้านทีมงานนั้น หลังการควบรวมในช่วงต้นปี ทำให้มีทีมงานมีอาชีพเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 100 คน ในจำนวนนี้เป็นเซลล์หรือเทรดเดอร์ถึง 60 คนซึ่งมีหน้าที่ให้บริการและข้อมูลแก่ลูกค้า

“ทีมงานเราประกอบไปด้วย ทีมที่ให้บริการลูกค้าญี่ปุ่นที่สามารถพูดภาษาญี่ปุ่นได้คล่อง และทีมที่ให้บริการลูกค้าไทยอีก 1 ทีม ส่วนหนึ่งของงานคือนำข้อมูลที่ได้จาก Global Markets Division ในภูมิภาคต่างๆ มาถ่ายทอดให้ลูกค้าทราบ และยังมีทีมวิจัยทีมใหญ่ที่สิงคโปร์ ซึ่งคอยทำการวิเคราะห์ตลาดในแต่ละช่วงเวลา โดยเริ่มตั้งแต่เช้าที่ซิดนีย์ ออสเตรเลีย รวมทั้งที่โตเกียว ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ พร้อมที่จะให้ลูกค้าที่อยู่ในไทยได้ทราบถึงแนวโน้มของค่าเงินดอลลาร์ในแต่ละวัน รวมถึงเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงกลางคืนที่ผ่านมา เราจะพยายามอัพเดทข้อมูลที่เกิดขึ้นเมื่อคืนให้ลูกค้าทราบ ทั้งลูกค้าญี่ปุ่นและไทยในตอนเช้า เพื่อประกอบการตัดสินใจในการซื้อขายสกุลเงินต่างๆ ในแต่ละวันได้” ตรรกเล่ารายละเอียดของทีมงาน

 

Synergy กับเครือข่าย MUFG ทั่วโลก

การให้บริการของกลุ่มธุรกิจ Global Markets ของกรุงศรี มีจุดแข็งที่แตกต่างจากธนาคารอื่นๆ ในไทย คือ การที่ธนาคารเป็นบริษัทในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ซึ่งมีเครือข่ายสำนักงานและสาขาอยู่กว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทำให้ธนาคารสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลกในการให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

ตรรกบอกว่าการยกระดับกลุ่มงานเป็นธุรกิจ Global Markets เพื่อปรับรูปแบบการให้บริการให้มีลักษณะของความเป็น Global ซึ่งในความหมายของ MUFG คือ มีกลุ่มธุรกิจ Global Markets อยู่ในศูนย์กลางการเงินหลักทุกแห่งทั่วโลก

“ในระดับภูมิภาค MUFG ยังมี Global Markets Division for Asian Region หรือที่เรียกว่า GMDAR ซึ่งดูตลาดอาเซียนเป็นหลักและมี Global Markets for East Asia ซึ่งจะดูแลการดำเนินธุรกิจในแถบฮ่องกง กับจีนในส่วนที่ติดกับฮ่องกง และมี Global Markets ของ China ถ้าออกไปไกลกว่านั้นก็จะมี Global Markets ของ EMEA หมายถึง Europe Middle-East and Africa และสุดท้ายคือ Global Markets Division America”

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า Global Markets ของ MUFG ครอบคลุมทุกตลาดและทุกภูมิภาคในระดับโลก

ตรรกกล่าวว่า “ทีม Global Markets ในไทยจะทำงานร่วมกับทีม GMDAR เป็นหลัก หากมีอะไรที่เกี่ยวข้องกับ จีน หรือเอเชียเหนือ ซึ่งได้แก่ เกาหลีและญี่ปุ่น ก็จะมีทีมงานที่โตเกียว เซี่ยงไฮ้ ฮ่องกง เสริมเข้ามา แต่หากจะข้ามไปถึงยุโรป ถึงตะวันออกกลางหรือแอฟริกา ก็มีทีม EMEA หรือหากจะเกี่ยวไปถึงสหรัฐ ก็จะมีทีม America เข้ามาทำงานด้วย”

GMDAR หรือ Global Markets Division for Asian Region เป็นหน่วยงานของ MUFG/BTMU ที่ดูแลในเรื่องของ Global Markets โดยมีสำนักงานตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ และทำหน้าที่เป็น Hub ของอาเซียน ในการดูแลและร่วมพัฒนานวัตกรรมและบริการในด้าน Global Markets

 
"การให้บริการของกลุ่มธุรกิจ Global Markets ของกรุงศรี มีจุดแข็งที่แตกต่างจากธนาคารอื่นๆ ในไทย คือการที่ธนาคารเป็นบริษัทในเครือมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) ซึ่งมีเครือข่ายสำนักงานและสาขาอยู่ในกว่า 40 ประเทศทั่วโลก ทำให้ธนาคารสามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายที่มีอยู่ทั่วโลก ในการให้การสนับสนุนผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินแก่ลูกค้าได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น"

“นี่คือความแตกต่างของกรุงศรีจากธนาคารรายใหญ่อื่นๆ เรามีเครือข่ายที่เป็น Global Markets ครอบคลุมอยู่ทั่วโลก ศักยภาพคือในแต่ละภูมิภาคจะมีทีมที่มีความชำนาญในแต่ละผลิตภัณฑ์ และสกุลเงิน เช่น ในภูมิภาคเอเชียตอนนี้เรากำลังโปรโมทการใช้สกุลเงินหยวน เพื่อใช้ลดความเสี่ยงในการพึ่งพาค่าเงินดอลลาร์สรอ. เพราะว่าผู้ประกอบการไทย ทั้งผู้นำเข้าและผู้ส่งออก คุ้นเคยกับการใช้เงินดอลลาร์สรอ. เมื่อเงินดอลลาร์สรอ. อ่อนค่าลง หรือแข็งค่าไป ก็จะรู้สึกว่าแข่งขันไม่ได้ เราจึงเสนอทางเลือกในการบริหารเงินโดยเริ่มจากใช้สกุลเงินที่แข่งขันได้ เป็นสกุลเงินที่มีอนาคตในการค้าขายระดับโลกต่อไป เช่น เงินหยวนของจีน รวมทั้งสกุลเงินยูโรที่ตอนนี้อาจจะยังมีปัญหา แต่เมื่อพ้นจุดนี้ไปได้ก็จะเป็นสกุลเงินที่ช่วยให้แข่งขันได้ หรือแม้แต่ในภูมิภาคอาเซียนเอง ธนาคารแห่งประเทศไทยก็พยายามสนับสนุนให้มีการใช้เงินบาทในธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะกับกลุ่มประเทศ CLMV มากขึ้น”

ตรรกมองว่าการใช้ความชำนาญของทีมแต่ละทีม จะช่วยเสริมสร้างให้ผู้ประกอบการในทุกเซ็กเมนต์ที่กล่าวมาแล้ว เกิดความเข้าใจในผลิตภัณฑ์และความเสี่ยง และวิธีการบริหารความเสี่ยงได้ดีกว่า เขามั่นใจว่า “กรุงศรีจะเป็นธนาคารที่ลูกค้าอยากจะเดินเข้ามาใช้บริการในการบริหารความเสี่ยงมากกว่าธนาคารอื่นด้วยจุดแข็งที่โดดเด่นของเรา”

 

ภาพรวมตลาดเงินในประเทศและระดับโลก

ตรรกให้มุมมองเรื่องอัตราดอกเบี้ยใน 2 มิติ คือหากมองในระยะยาว แน่นอนว่าสถานการณ์ดอกเบี้ยในแต่ละภูมิภาคของโลกมีแนวโน้มที่ชัดเจน คือ มีโอกาสที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยอย่างแน่นอนในปีนี้ แต่จะเร็วภายในไตรมาส 3 หรือช้าไปถึงไตรมาส 4 นั่นคือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯที่จะมีผลต่อการตัดสินใจปรับอัตราดอกเบี้ยในไทย และประเทศอื่นๆ

สำหรับในประเทศไทยนั้น คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) พยายามจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่ให้มีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อของไทยยังค่อนข้างต่ำ และจีดีพีไทยก็เติบโตค่อนข้างช้าเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้นการใช้นโยบายดอกเบี้ยมากระตุ้นเศรษฐกิจก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่แบงก์ชาตินำมาใช้ในปีนี้
 
“ผมมองว่าการตัดสินใจที่เกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยต้องนำหลายปัจจัยทั้งภายนอกและภายในประเทศมาพิจารณาประกอบกัน สำหรับผู้ประกอบการ หากดอกเบี้ยไทยต่ำสุด ก็จะเริ่มทำการระดมเงินด้วยการออกหุ้นกู้ จะเห็นได้ว่าในหลายบริษัทเริ่มทยอยออกหุ้นกู้ในช่วงนี้ อาจจะมีแผนไปถึงไตรมาส 3 โดยบล.กรุงศรีซึ่งอยู่ในธุรกิจที่ทำการระดมเงินให้กับลูกค้า ก็มีการพูดคุยกับลูกค้า เพราะเริ่มเห็นความต้องการในการจะระดมเงินในช่วงดอกเบี้ยต่ำสุดในช่วงนี้” ตรรกกล่าว

ส่วนเรื่องค่าเงินบาทนั้น กรุงศรีเห็นตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ทยอยปรับตัวดีขึ้น มีการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์สรอ.ให้เริ่มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับค่าเงินเยน ขณะที่เยนเป็นสกุลเงินหนึ่งที่เป็นตัวนำของค่าเงินในเอเชีย เมื่อเยนอ่อนค่า แนวโน้มค่าเงินเอเชียสกุลอื่นๆ ก็เคลื่อนไหวตามทิศทางค่าเงินเยนรวมถึงเงินบาทด้วย

ในช่วงที่ผ่านมามีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ไม่เป็นไปตามคาด (Surprise Cut) เมื่อดอกเบี้ยลดลง เงินที่มาลงทุนในสกุลเงินบาทที่คาดหวังผลตอบแทนจากดอกเบี้ยพันธบัตรที่สูงก็จะไหลออก เมื่อผลตอบแทนลดลง ดังจะเห็นได้ว่าเริ่มมีการขายพันธบัตรออก นอกจากนี้ความคาดหวังเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดก็มีผลต่อการไหลเข้าออกของเงิน

ปัจจัยข้างต้นดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลง กรุงศรีจึงเริ่มมีการพูดคุยกับลูกค้าที่เป็นผู้นำเข้าส่งออกเพื่อให้ทำการป้องกันความเสี่ยงของ Exposure ที่มีอยู่

“ดังนั้นแนวโน้มตอนนี้จนถึงไตรมาส 3 และ 4 ยังคาดว่าค่าเงินบาทจะมีทิศทางในทางอ่อนตัวเพราะว่ายังมีปัจจัยเรื่องเฟดขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งหากดอลลาร์สรอ.แข็งค่าขึ้นจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก็มีโอกาสที่เงินบาทต้องอ่อนค่าลงแน่นอน” ตรรกกล่าว

 

BAY มุ่งเป็นสถาบันการเงินชั้นนำในภูมิภาค

นักวิเคราะห์มีมุมมองด้านบวกต่อหุ้นธนาคารกรุงศรี หลังจากประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2558 ที่มีการเติบโตโดยได้แรงหนุนการเพิ่มประสิทธิภาพจากการควบรวมกิจการของ BAY และ BTMU ซึ่งต่างเป็นบริษัทในเครือของกลุ่มมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG)
 
Global Markets

Global Markets
 
สุวัฒน์ บำรุงชาติอุดม นักวิเคราะห์การลงทุนปัจจัยพื้นฐานด้านหลักทรัพย์ บมจ.หลักทรัพย์บัวหลวง บอกว่าหลังจากการควบรวมกิจการ BAY มีเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อที่ระดับ 7-9%  โดยแยกเป็นเป้าหมายสินเชื่อบรรษัทเติบโต 10% มาจากสายธุรกิจญี่ปุ่น และสายธุรกิจการร่วมทุนไทย-ญี่ปุ่น ที่จะขยายธุรกิจไปในประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนสินเชื่อ SME ตั้งเป้าเติบโต 7% จากบริษัทญี่ปุ่นในประเทศไทย และเป้าหมายสินเชื่อลูกค้ารายย่อยเพิ่ม 5% โดยมาจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย

อดิสรณ์ มุ่งพาลชน นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) บอกว่า BAY รับโอนสินเชื่อจาก BTMU จำนวน 2.3 แสนล้านบาท ทำให้สินเชื่อของ BAY ในไตรมาส 1/2558 เติบโตถึง 21.1% และโครงสร้างสินเชื่อของธนาคารฯก็เปลี่ยนแปลงไป โดยสินเชื่อธุรกิจกลายมาเป็นสินเชื่อที่มีสัดส่วนมากที่สุด 43% จากสิ้นปี 2557 ที่มีอยู่ 29% ด้านสินเชื่อรายย่อยที่เดิมเป็นพอร์ตหลัก ก็ลดลงจาก 49% เป็น 40%

อดิสรณ์บอกด้วยว่าในปีนี้ BAY จะเน้นสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่เป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างน้อย และจะอาศัยฐานลูกค้าที่มาจาก BTMU ในการปล่อยสินเชื่อเพิ่ม
 
นักวิเคราะห์ทั้งสองมองสอดคล้องกันว่า BAY ควบคุมคุณภาพสินทรัพย์ได้ดี มีสัดส่วนหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ต่อสินเชื่อลดลงเหลือ 2.36% ในไตรมาส 1/2558 เทียบกับ 2.79% ในปี 2557

 
อดิสรณ์ได้ปรับประมาณกำไรในปีนี้ของ BAY ลง จากเดิมที่คาดหมายไว้ 21 พันล้านบาท เป็น 19 พันล้านบาท เนื่องจากแผนขยายสาขาของ BAY จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น บวกกับการตั้งสำรองที่สูงกว่าคาดในไตรมาส 1 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี เขามองว่าการควบรวมกับ BTMU ทำให้กำไรในปี 2558 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนถึง 33.2%

กระนั้นก็ตาม กำไรที่เพิ่มขึ้นนี้ยังไม่มากพอที่จะทำให้ ROE ที่ลดต่ำลงจากการเพิ่มทุนจากการควบรวมเพิ่มขึ้นได้ อดิสรณ์จึงปรับลด P/BV ที่ใช้ในการประเมินราคาพื้นฐานลงเหลือ 2 เท่าจากเดิม 2.3 เท่า ส่งผลให้ราคาพื้นฐานปรับลดลงจาก 57 บาท มาอยู่ที่ 49 บาท ซึ่งเมื่อเทียบกับราคาปัจจุบันของ BAY ที่ ปรับลดลงมาก ยังมีคงมีส่วนต่างอยู่พอสมควร เขาจึงแนะนำ “ซื้อ”

ขณะที่สุวัฒน์ปรับคำแนะนำเป็น “ถือ” โดยมองว่าราคาหุ้น BAY ปรับลดลงต่ำกว่าราคาเป้าหมายที่เขาให้ไว้ที่ 44 บาท โดยอ้างอิงจาก P/BV ที่ 1.6 เท่า ทั้งที่ธนาคารมีแนวโน้มการดำเนินงานที่ดีขึ้นในอนาคต
Global Markets
 

ผลประกอบการและค่าสถิติสำคัญ

หน่วย : ล้านบาท 2556 2557 1/2558
สินทรัพย์รวม 1,179,581.95 1,214,268.37 1,632,827.92
หนี้สินรวม 1,057,934.00 1,082,598.36 1,450,061.03
รายได้รวม 94,042.95 95,828.32 26,774.39
กำไรสุทธิ 11,866.65 14,169.53 4,325.98
กำไรต่อหุ้น(บาท) 1.95 2.33 0.59
P/E (เท่า) 12.66 24.22 16.91
P/BV (เท่า) 1.54 2.12 1.41
มูลค่าหุ้นทางบัญชีต่อหุ้น (บาท) 19.81 21.08 24.78
อัตราส่วนเงินปันผลตอบแทน (%) 2.62 1.79 2.09
ข้อมูล ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2558 (ที่มา : www.set.or.th)

   ย้อนกลับ