คลังสินค้า (Warehouse) หมายถึงอาคารที่ใช้เก็บรักษาหรือรับฝากสินค้าระหว่างรอการเคลื่อนย้ายเพื่อสนับสนุนการผลิต (กรณีจัดเก็บวัตถุดิบ ส่วนประกอบและชิ้นส่วนต่างๆ) และการกระจายสินค้า (กรณีจัดเก็บสินค้าสำเร็จรูป) ให้กับผู้เกี่ยวข้องในห่วงโซ่อุปทานและลูกค้า การให้บริการคลังสินค้าให้เช่าจึงเป็นธุรกิจบริหารงานโลจิสติกส์ที่มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจต่างๆ ทั้งกระบวนการผลิต การค้า และการขนส่ง
คลังสินค้าให้เช่าในประเทศ แบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ 1) คลังสินค้าแบบดั้งเดิม (Traditional warehouse) มีสัดส่วนกว่า 95% ของจำนวนคลังสินค้าทั่วประเทศ ส่วนใหญ่เน้นบริการพื้นที่เช่าและระบบสาธารณูปโภค/สิ่งอำนวยความสะดวกพื้นฐาน อาทิ ถนน ไฟฟ้า ประปา โทรศัพท์ ระบบรักษาความปลอดภัย และ 2) คลังสินค้าสมัยใหม่ (Modern warehouse) ให้บริการพื้นที่เช่าโดยมีระบบโลจิส ติกส์ครบวงจร มีการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลังสินค้า (อาทิ ระบบจัดเก็บ ระบบตรวจนับ และระบบตรวจสอบสินค้าคงคลัง) รวมทั้งมีระบบขนถ่ายสินค้าและบรรจุหีบห่อสินค้าอัตโนมัติ (ภาพที่ 1) ปัจจุบันมีผู้ประกอบการบางส่วนปรับเปลี่ยนรูปแบบคลังสินค้าดั้งเดิมมาเป็นคลังสินค้าสมัยใหม่มากขึ้นเพื่อเพิ่มช่องทางสร้างรายได้จากการให้บริการด้านอื่นนอกเหนือจากค่าเช่าพื้นที่ นอกจากนี้ ยังมีการปรับปรุงโครงสร้างอาคารให้ได้มาตรฐานมากขึ้น โดยบางแห่งมีการลงทุนพัฒนาระบบอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมภายในอาคาร (เช่น มาตรฐาน LEED: Leadership in Energy and Environmental Design) และวางโครงสร้างอาคารที่คำนึงถึงการป้องกันภัยพิบัติ (เช่น น้ำท่วม แผ่นดินไหว เป็นต้น) ซึ่งเป็นกระแสความต้องการของผู้เช่าในปัจจุบันปัจจัยหลักในการเลือกเช่าคลังสินค้า
ผู้เช่าจะพิจารณาจากปัจจัยด้านทำเลที่ตั้งควบคู่กับปัจจัยอื่นๆ อาทิสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน เทคโนโลยีการจัดการ/บริหารคลังสินค้าที่เหมาะสมกับประเภทสินค้าที่ต้องการจัดเก็บ รวมทั้งอัตราค่าเช่า การเลือกคลังสินค้าที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้เช่าสามารถผลิต และ/หรือ จัดส่งสินค้าได้รวดเร็ว ช่วยลดภาระต้นทุนจากระยะทาง เวลา และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของกิจการ เช่น 1) คลังสินค้าอุปโภคบริโภคควรมีทำเลใกล้ตลาดหรือแหล่งชุมชนเพื่อให้ได้เปรียบในการจัดจำหน่าย 2) คลังสินค้าวัตถุดิบทางการเกษตรควรมีทำเลใกล้แหล่งเพาะปลูกและโรงงานแปรรูปผลผลิตเพื่อลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งวัตถุดิบ และ 3) คลังเก็บวัตถุดิบ/ชิ้นส่วน/สินค้าสำเร็จรูปมักอยู่ในเขตโรงงานหรือในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเพื่อให้ได้สิทธิประโยชน์การลงทุนจาก BOI เป็นต้น
สำหรับประเภทคลังสินค้าให้เช่า จากการจำแนกของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ประกอบด้วย 3 ประเภทหลัก คือ 1) คลังสินค้าทั่วไป เป็นอาคารที่ใช้เก็บรักษาสินค้าทั่วไป 2) คลังสินค้าแช่เย็น/แช่แข็ง เป็นอาคารควบคุมอุณหภูมิใช้เก็บรักษาและยืดอายุผลิตผลทางการเกษตร ประมงและผลิตภัณฑ์อาหารที่เน่าเสียง่าย (Perishable food) อาทิ อาหารทะเล ผลิตภัณฑ์นม ดอกไม้สด เนื้อสัตว์ ผัก/ผลไม้ และ 3) คลังสินค้าธัญพืช (ไซโล) เป็นถังทรงกลมขนาดใหญ่ซึ่งมีระบบควบคุมอุณหภูมิและความชื้น ใช้ในการเก็บรักษาธัญพืช เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง แป้ง และรำข้าว เป็นต้น
การลงทุนคลังสินค้าในไทยขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา โดยมีจำนวนผู้ประกอบการจดทะเบียนดำเนินกิจการคลังสินค้าทั้งสิ้น 721 ราย ในปี 2560 (ภาพที่ 2) สำหรับปี 2561 ภาพรวมธุรกิจมีสัญญาณดีขึ้น ความต้องการเช่าพื้นที่กระเตื้องขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ในบางทำเลยังคงเผชิญปัญหาพื้นที่คลังสินค้าส่วนเกินสูง สำหรับรายละเอียดของคลังสินค้าแต่ละประเภทเป็นดังนี้
เป็นประเภทคลังสินค้าที่มีจำนวนมากที่สุด (สัดส่วน 77% ของจำนวนกิจการคลังสินค้าทั้งหมด) และมีบทบาทสูงสุดในธุรกิจคลังสินค้า โดยมีรายได้คิดเป็นสัดส่วนกว่า 88% ของรายได้ธุรกิจคลังสินค้าทั้งหมดในไทย (ข้อมูล ณ ปี 2560) จึงเป็นคลังสินค้าที่มีความเกี่ยวเนื่องกับหลากหลายธุรกิจ/อุตสาหกรรม
การลงทุนใหม่ในธุรกิจคลังสินค้าทั่วไปเร่งตัวอย่างมากในช่วงปี 2555-2560 ผลจาก 1) วิกฤตน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปี 2554 มีผลให้เกิดการโยกย้ายฐานการผลิตจากนิคมอุตสาหกรรมในภาคกลางซึ่งประสบปัญหาน้ำท่วมรุนแรงไปยังพื้นที่อื่น จึงมีการลงทุนสร้างคลังสินค้าเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก และ 2) การเปิดพื้นที่ลงทุนใหม่ๆ ตามการพัฒนาเส้นทางคมนาคมใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงระหว่างภูมิภาค และ 3) การขยายพื้นที่ส่งเสริมการลงทุน โดยการปรับเกณฑ์การให้สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนของ BOI จากเดิมที่ให้เฉพาะเขตหรือพื้นที่ (Decentralization basis - Zone 1, 2, 3) มาเป็นการให้สิทธิประโยชน์ตามประเภทกิจการ (Activity-based incentives) หรือตามคุณค่าของโครงการ (Merit-based incentives) ที่ครอบคลุมพื้นที่อื่นๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ รัฐยังให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพิ่มเติมกรณีลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย อาทิ แนวระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) และเขตเศรษฐกิจพิเศษ (Special Economic Zone: SEZs) มีผลให้จำนวนผู้ประกอบการจดทะเบียนดำเนินกิจการธุรกิจคลังสินค้าทั่วไปเพิ่มขึ้นจาก 451 ราย ในปี 2554 เป็น 552 รายในปี 2560 (2.9% CAGR) (ภาพที่ 3) และมีพื้นที่ให้เช่าเพิ่มขึ้นมากจาก 1.72 ล้านตารางเมตรในปี 2554 เป็น 4.65 ล้านตารางเมตรในปี 2560 (15.2% CAGR)
ปี 2561 ความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้าทั่วไปอยู่ที่ 4.1 ล้านตารางเมตร เร่งตัวขึ้น 11.8% YoY จาก 2.3% ในปี 2560 โดยความต้องการใช้พื้นที่เพิ่มขึ้นทั้งในกลุ่มลูกค้าพาณิชย์อิเลคทรอนิกส์ (E-Commerce) เพื่อสต็อกสินค้าและรอการกระจาย/จําหน่ายสู่มือผู้บริโภค และกลุ่มลูกค้าธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจส่งออก-นำเข้า รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิตที่จัดเก็บสินค้าเพื่อรอการกระจายสู่ตลาดในประเทศ และตลาดส่งออก ขณะที่ผู้ประกอบการมีการเพิ่มพื้นที่คลังสินค้าให้เช่าเพื่อรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการลงทุนที่ขยายตัว โดยมีพื้นที่ให้เช่ารวม 4.9 ล้านตารางเมตร เร่งขึ้นเป็น 11.8% YoY จาก 1.8% ในปี 2560 ส่วนใหญ่เป็นคลังสินค้าสมัยใหม่ที่ขยายพื้นที่ในทำเลเดิมเป็นหลัก ทำให้อัตราการเช่าพื้นที่คลังสินค้าทั่วไปอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีก่อนที่ 84.2% (ภาพที่ 4)[2]
พื้นที่คลังสินค้าให้เช่าทั่วไปที่เพิ่มขึ้นในปี 2561 ส่วนใหญ่อยู่ในเขตปริมณฑลและพื้นที่โดยรอบ EEC อาทิ สมุทรปราการ อยุธยา ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ซึ่งมีข้อได้เปรียบจากการเป็นจังหวัดที่มีนิคมอุตสาหกรรม ศูนย์กระจายสินค้าจากส่วนกลาง รวมทั้งมีเส้นทางคมนาคมที่สะดวก ใกล้ท่าเรือ สถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่องลาดกระบัง (Inland Container Depot: ICD) และท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ดี พื้นที่คลังสินค้าทั่วไปให้เช่ายังคงกระจุกตัวอยู่ในจังหวัดสมุทรปราการสัดส่วน 32.6% ของพื้นที่ให้เช่าทั้งหมด (ภาพที่ 5) ขณะที่ชลบุรี อยุธยา ฉะเชิงเทรา และกรุงเทพฯ มีสัดส่วน 21.0%, 13.1%, 11.4% และ 8.2% ตามลำดับ
หากพิจารณาอัตราการเช่าพื้นที่ของคลังสินค้าทั่วไปในแต่ละทำเล พบว่าแตกต่างกันตามศักยภาพของพื้นที่ จำนวนคลังสินค้าในพื้นที่ ระดับการแข่งขัน และความสะดวกด้านคมนาคมขนส่ง ซึ่งส่งผลต่อค่าเช่า (Rental rate) ที่แตกต่างกันด้วย (ภาพที่ 6-7)
หลายปีที่ผ่านมากิจการคลังสินค้าแช่เย็น/แช่แข็งชะลอตัวต่อเนื่อง ผลจากความต้องการเช่าพื้นที่เพื่อเก็บรักษาสัตว์น้ำ (อาทิ ปลา กุ้ง ปลาหมึก) ลดลงตามปริมาณการจับสัตว์น้ำธรรมชาติและผลผลิตกุ้งเพาะเลี้ยงของไทยที่ลดลงมากหลังเกิดการระบาดของโรค EMS (Early Mortality Syndrome) ตั้งแต่ปี 2555 ประกอบกับมีผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารบางส่วน (อาทิ อุตสาหกรรมอาหารทะเล) ลงทุนขยายคลังสินค้าลักษณะนี้เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับธุรกิจของตนเองเนื่องจากสามารถควบคุมและตรวจสอบวัตถุดิบ/กำกับคุณภาพสินค้าตามมาตรฐานที่เข้มงวดขึ้นของประเทศคู่ค้า
จากข้อมูลล่าสุดปี 2560 มีจำนวนผู้ประกอบการ 138 ราย (ภาพที่ 8) กลุ่มคลังสินค้าที่รับฝากผลไม้ปรับตัวดีขึ้นจากอานิสงส์ของปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นตามสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ส่วนคลังสินค้าที่รับฝากสินค้าประมงยังมีผลประกอบการไม่ดีนัก เนื่องจากราคาและผลผลิตกุ้งยังอยู่ในระดับต่ำ (ผลผลิตปี 2560 อยู่ที่ 3.5 แสนตัน เทียบกับผลผลิต 6.0 แสนตัน ในปี 2554) ประกอบกับความต้องการเช่าลดลงหลังทางการไทยเข้มงวดเกี่ยวกับมาตรฐานเรือประมงและเกณฑ์การใช้แรงงานต่างด้าวในการจับสัตว์น้ำ ปี 2561 ประเมินว่าธุรกิจยังชะลอตัว ตามความต้องการเช่าพื้นที่ในการจัดเก็บสินค้าประมงแช่เย็นแช่แข็งเพื่อส่งออกที่ลดลง (ปริมาณส่งออกกุ้ง ปลา และหมึกแช่เย็นแช่แข็ง ลดลง -22.5% YoY, -2.4% YoY, และ -9.5% YoY ตามลำดับ ในปี 2561)
ช่วงปี 2555-2558 มีการเร่งลงทุนคลังสินค้าเพื่อรองรับความต้องการพื้นที่เก็บรักษาผลผลิตข้าวจาก “โครงการจำนำข้าวทุกเมล็ดของรัฐบาล” ในฤดูกาลผลิต 2554-2556 ที่มีปริมาณรับจำนำข้าวมากถึงกว่า 5 เท่า เมื่อเทียบกับปีปกติที่มีปริมาณการรับจำนำข้าวปีละ 5-6 ล้านตัน อย่างไรก็ตาม หลังรัฐบาลยุติโครงการข้างต้นและทยอยระบายข้าวในสต็อกออกสู่ตลาดตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมา ทำให้ความต้องการเช่าพื้นที่ไซโลลดลงเป็นลำดับถึงปี 2560 (ข้าวรัฐในสต็อกเหลือเพียง 3-5 ล้านตัน เทียบกับ 18 ล้านตันในช่วงโครงการจำนำข้าว) ส่งผลให้ธุรกิจซบเซาต่อเนื่อง โดยในปี 2560 มีผู้ประกอบการ 31 ราย ลดลงจาก 33 รายในปี 2559 (ภาพที่ 8)
ปี 2561 ธุรกิจไซโลกระเตื้องขึ้นบ้าง ปัจจัยหนุนจากราคาและผลผลิตธัญพืช(ข้าวและข้าวโพด) ที่ปรับขึ้น (ดัชนีราคาข้าวเปลือก +15% YoY และดัชนีผลผลิตข้าวเปลือก +1.7% YoY, ข้าวโพด ดัชนีราคา +28% YoY และ ดัชนีผลผลิต +9.9% YoY) แรงหนุนจากคำสั่งซื้อข้าวตามสัญญาซื้อขายและส่งมอบในรูปแบบรัฐต่อรัฐ (G to G) ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้มีการรับซื้อธัญพืชมาเก็บในคลังสินค้าเพื่อรอการส่งมอบ
ช่วงปี 2562-2564 คาดว่าความต้องการเช่าพื้นที่คลังสินค้ามีแนวโน้มทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2561 ตามทิศทางการลงทุนภาคอุตสาหกรรมและความต้องการใช้บริการโลจิสติกส์ที่ต้องมีกระบวนการรวบรวมและกระจายสินค้าไปยังพื้นที่ต่างๆ อย่างไรก็ตาม การลงทุนขยายพื้นที่เช่าต่อเนื่องในบางทำเลอาจกดดันอุปทานส่วนเกินให้เพิ่มขึ้น ทำให้การแข่งขันยังคงรุนแรงและค่าเช่ายังทรงตัวต่ำ
ด้านการลงทุนขยายพื้นที่คลังสินค้าคาดว่าส่วนใหญ่เป็นรูปแบบคลังสินค้าทั่วไปของกลุ่มผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และนิคมอุตสาหกรรมรายใหญ่ในลักษณะคลังสินค้าสมัยใหม่ เพื่อรองรับกิจกรรมการผลิต การค้าและการลงทุนภายในประเทศ โดยพื้นที่ลงทุนจะมีการกระจายตัวทุกภาค แต่ทำเลสำคัญยังคงอยู่ในภาคกลาง และภาคตะวันออก สำหรับพื้นที่คลังสินค้าที่มีโอกาสเติบโตต่อเนื่องในระยะข้างหน้าจะอยู่ในทำเลต่อไปนี้ (ภาพที่ 12)
ในช่วงปี 2562-2564 คาดว่าธุรกิจคลังสินค้ายังมีภาวะซบเซา แม้ความต้องการเช่าพื้นที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามภาคเกษตร การลงทุน/ของภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้า/บริการในประเทศ แต่การลงทุนขยายพื้นที่คลังสินค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาจส่งผลให้คลังสินค้าในบางพื้นที่มีอุปทานส่วนเกินสูง การแข่งขันด้านราคาจึงรุนแรงขึ้นและการปรับขึ้นค่าเช่ายังทำได้ยาก