ปี 2564 ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีแนวโน้มทรงตัวหรืออาจหดตัวเล็กน้อยจากปี 2563 ผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมยังคงเปราะบางและผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ประกอบกับภาคท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวช้ามาก เนื่องจากการเปิดประเทศอาจล่าช้าออกไป ทำให้ดีมานด์ยังคงจำกัดเฉพาะในประเทศซึ่งไม่เพียงพอต่อการฟื้นตัวของธุรกิจ ปี 2565-2566 ธุรกิจมีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นโดยมีปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ในการบริโภคที่คาดว่าจะขยายตัวตามเศรษฐกิจหลังวิกฤต COVID-19 ทยอยคลี่คลายและความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องซึ่งรวมถึงธุรกิจพื้นที่ค้าปลีก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังเผชิญความท้าทายด้านการแข่งขันกับร้านค้าออนไลน์ (E-commerce) ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น รวมถึงแรงกดดันจากอุปทานใหม่ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากโครงการขนาดใหญ่ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา
พื้นที่ค้าปลีก (Retail space)[1] ในประเทศไทยส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลและจังหวัดหลักของภูมิภาค[2] โดยในปัจจุบันพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลอยู่ที่ 6 ล้านตารางเมตร (ภาพที่1) ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบของศูนย์การค้า (Shopping mall) โดยครอบคลุมในส่วนของพื้นที่ที่ผู้ประกอบการมีรายได้จากการให้เช่าพื้นที่ ประเภทของพื้นที่ค้าปลีก สามารถแบ่งได้เป็น ศูนย์การค้าแบบปิด (Enclosed mall) คอมมูนิตี้มอลล์ (Community mall) และพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน (Supporting retail) (Box 1) โดยผู้ประกอบการจะดำเนินธุรกิจหลักในลักษณะของการลงทุนพัฒนาพื้นที่โครงการรวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้เช่าและสร้างรายได้จากการให้เช่าพื้นที่เป็นหลัก
พื้นที่ค้าปลีกให้เช่าในกรุงเทพฯ และปริมณฑลประมาณ 49% อยู่ในพื้นที่ชานเมือง (Suburbs) (ภาพที่ 2 และ 3) ในช่วงปี 2551-2563 มีการพัฒนาศูนย์การค้าขนาดใหญ่และคอมมูนิตี้มอลล์หลายโครงการในพื้นที่ชานเมือง เพื่อรองรับที่อยู่อาศัยที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากเป็นบริเวณที่ราคาที่ดินยังไม่สูงมากเมื่อเทียบกับในเมือง รวมทั้งมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การพัฒนาศูนย์การค้าขนาดใหญ่อาจทำได้ยากขึ้นในพื้นที่ใจกลางเมือง จากข้อจำกัดจากกฎหมายผังเมืองที่ห้ามก่อสร้างอาคารค้าปลีกขนาดใหญ่ในบางบริเวณของกรุงเทพฯ ส่งผลให้ในช่วงที่ผ่านมาผู้ประกอบการธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกเดิมในย่านใจกลางเมือง (Downtown) (ได้แก่ ย่านสีลม สาทร ราชดำริ สุขุมวิทตอนต้น) หันมาเน้นปรับปรุงรูปแบบอาคารให้มีความทันสมัยและมีความหรูหราแทนการขยายพื้นที่ เพื่อรองรับกลุ่มลูกค้าที่มีกำลังซื้อสูง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ในขณะที่พื้นที่รอบใจกลางเมือง (Midtown) เน้นกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับกลางเป็นหลัก
ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกของไทยพัฒนามาจากห้างสรรพสินค้า (Department store) ที่หันมาพัฒนาพื้นที่ค้าปลีกรูปแบบศูนย์การค้าเพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มรายได้จากการให้เช่าพื้นที่สำหรับร้านค้าหลากหลายประเภท เช่น ร้านอาหาร ร้านขายยา ร้านขายสินค้าเฉพาะอย่าง ธนาคาร โรงเรียนดนตรีและศิลปะ โรงภาพยนตร์ ศูนย์อาหาร เป็นต้น ทำให้ศูนย์การค้าได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง
รูปแบบของการเช่าพื้นที่ค้าปลีกสามารถจำแนกตามกลุ่มผู้เช่าและรูปแบบสัญญาเช่า ดังนี้
โดยทั่วไปการทำสัญญาเพื่อเช่าพื้นที่จะครอบคลุมค่าเช่า 2 ส่วน ได้แก่ ค่าเช่าพื้นที่ (สัดส่วน 40% ของค่าเช่าโดยรวม) และค่าบริการด้านต่างๆ (สัดส่วน 60%) โดยลักษณะสัญญาเช่ามีดังนี้
กลุ่มผู้ประกอบการแบ่งเป็น
ปี 2563 ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่าเผชิญภาวะซบเซารุนแรง ผลจาก (1) กำลังซื้อในประเทศและชาวต่างชาติได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะงักงันทุกภาคส่วน ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยหดตัวถึง 6.1% สอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดลงต่ำสุดป็นประวัติการณ์ (ภาพที่ 7) ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติหดตัวมากกว่า 80% กดดันร้านค้าปลีกทำเลที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะจีน (2) ภาครัฐออกมาตรการปิดเมือง (Lockdown) ทำให้มีการปิดร้านค้าชั่วคราวสำหรับกลุ่มที่ไม่จำเป็นหรือมีความจำเป็นน้อย (เช่น ห้างสรรพสินค้า และศูนย์การค้า) ส่งผลให้ดัชนีค้าปลีกหดตัวรุนแรงเป็นประวัติการณ์ที่ 5.4% (ภาพที่ 8) ขณะที่สมาคมค้าปลีกไทยประเมินธุรกิจค้าปลีกหดตัวถึง 10.0-12.0% ในปี 2563 (ภาพที่ 9)
ด้านผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการ ทำให้พื้นที่ค้าปลีกเปิดให้บริการใหม่ในปี 2563 อยู่ที่ 90,000 ตารางเมตร น้อยที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา พื้นที่ค้าปลีกสะสมจึงอยู่ที่ 6.4 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 1.3% (ภาพที่ 10) อย่างไรก็ตาม ความต้องการเช่าพื้นที่ค้าปลีกอยู่ที่ 6.1 ล้านตารางเมตร เพิ่มขึ้น 1.9% ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยรวมยังอยู่ในระดับสูงที่ 95.3% เพิ่มขึ้นจาก 94.8% ณ สิ้นปี 2562 (ภาพที่ 11) เนื่องจากการเช่าพื้นที่เป็นการทำสัญญาเช่ารายปี การยกเลิกการเช่าจึงไม่สามารถทำได้ทันที ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกใช้กลยุทธ์ปรับลดราคาค่าเช่า (การให้ส่วนลดจะพิจารณาเป็นรายกรณี) เพื่อจูงใจให้กลุ่มผู้เช่า/ ร้านค้ายังคงเช่าพื้นที่ค้าปลีกในโครงการต่อไป โดยเฉพาะผู้เช่าที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องและต้องการยกเลิกการเช่าพื้นที่ รวมถึงผู้เช่าที่มีช่องทางการขายสินค้าออนไลน์และต้องการลดขนาดพื้นที่เช่าลง ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่โดยรวมยังไม่ลดลง แต่มีผลกดดันรายได้และกำไรของผู้ประกอบการ
ค่าเช่าพื้นที่โดยรวม (ค่าเช่าพื้นที่ คือ ค่าเช่าตามอัตราเช่าพื้นฐานของการต่อสัญญา ไม่รวมส่วนลดค่าเช่า) ทรงตัวตั้งแต่ปี 2560 หลังจากปรับขึ้นไปในช่วงก่อนหน้า อีกทั้งผู้ประกอบการต้องการรักษาอัตราการเช่าพื้นที่ให้อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าเช่าศูนย์การค้าแบบปิดในย่านใจกลางเมืองที่มีค่าเช่าสูงสุด
ปี 2563 ค่าเช่าเฉลี่ยอยู่ที่ 4,400 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน โดยค่าเช่าในพื้นที่ย่านรอบใจกลางเมือง (Midtown) อยู่ที่ 4,800 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน (เพิ่มขึ้นจาก 3,500 บาท ปี 2562) ผลจากโครงการรถไฟฟ้าที่สร้างเสร็จช่วยเพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงพื้นที่ค้าปลีกมากขึ้น รวมทั้งศูนย์การค้าเดิมมีการปรับปรุงพื้นที่ใหม่ เช่น เซ็นทรัลพลาซ่า ลาดพร้าว เซ็นทรัลพลาซ่า ปิ่นเกล้า และเดอะมอลล์ บางกะปิ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่รอบใจกลางเมือง ส่วนค่าเช่าพื้นที่ย่านใจกลางเมือง (Downtown) และย่านชานเมือง (Suburbs) ทรงตัวเท่ากับปี 2562 (ภาพที่ 12) หากพิจารณาราย segment พบว่า ศูนย์การค้าแบบปิด มีค่าเช่าสูงสุดอยู่ที่ 1,200 - 5,500 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน รองลงมาเป็นคอมมูนิตี้มอลล์ อยู่ที่ 1,000 - 3,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน (ภาพที่ 13)
สถานการณ์ของธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกแต่ละประเภท มีดังนี้
ปี 2564 ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่ามีแนวโน้มทรงตัวหรืออาจหดตัวเล็กน้อยจากปี 2563 ผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังคงกดดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ประกอบกับหนี้ครัวเรือนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อกำลังซื้อโดยรวมประกอบกับผู้บริโภคมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น นอกจากนี้ ภาคท่องเที่ยวที่ยังฟื้นตัวช้า เนื่องจากการเปิดประเทศอาจล่าช้า ทำให้การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงมาก โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาคาดการณ์รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะอยู่ที่ 3 แสนล้านบาท (เทียบกับ 1.9 ล้านล้านบาท ในปี 2562) ปัจจัยดังกล่าวกระทบโดยตรงต่อยอดขายและรายได้ของผู้เช่าพื้นที่ กดดันอัตราการเช่าพื้นที่ค้าปลีกให้มีทิศทางปรับลดลง แม้ว่าภาครัฐจะออกมาตรกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการใช้จ่ายของครัวเรือน ส่งผลดีต่อร้านค้าในโครงการพื้นที่ค้าปลีก แต่การฟื้นตัวของดีมานด์ยังคงจำกัดเฉพาะกำลังซื้อในประเทศเท่านั้น อาจไม่เพียงพอต่อการฟื้นตัวของธุรกิจพื้นที่ค้าปลีก เนื่องจากธุรกิจยังต้องพึ่งพิงดีมานด์จากกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะช่วยกระตุ้นยอดขายของผู้เช่าพื้นที่ค้าปลีกเพื่อให้ธุรกิจกลับมาฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
ปี 2565-2566 ธุรกิจมีแนวโน้มปรับดีขึ้นโดยมีปัจจัยหนุนจาก (1) การบริโภคภาคเอกชนที่คาดว่าจะขยายตัวตามเศรษฐกิจไทยที่มีแนวโน้มเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในการฟื้นตัวของยอดค้าปลีก (2) ความคืบหน้าของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐจะช่วยกระตุ้นการลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องซึ่งรวมถึงธุรกิจพื้นที่ค้าปลีก และ (3) จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทยอยฟื้นตัว หลังมีการเปิดให้เดินทางระหว่างประเทศอีกครั้ง โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่ 9.05 ล้านคน ในปี 2565 และเพิ่มเป็น 20.7 ล้านคน ในปี 2566 ตามลำดับ (ภาพที่ 17) จะช่วยหนุนให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยจึงเป็นสัญญาณที่ดีต่อพื้นที่ค้าปลีกในอนาคต
ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกให้เช่ายังเผชิญการแข่งขันจากธุรกิจร้านค้าออนไลน์ (E-commerce) ที่มีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ในชีวิตประจำวันเติบโตอย่างก้าวกระโดด อย่างไรก็ตาม ยอดขายผ่านออนไลน์ยังมีสัดส่วนไม่มากนักเมื่อเทียบกับยอดขายผ่านหน้าร้าน โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียง 3-4% ของยอดขายทั้งหมด แต่มีศักยภาพการเติบโตสูงในระยะข้างหน้า ทั้งนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทยคาดปี 2566 ยอดขายออนไลน์ของไทยจะมีสัดส่วนมากกว่า 10% ของยอดค้าปลีกรวม ผู้ประกอบการธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกจึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว
โดยสรุป ความต้องการเช่าพื้นที่ค้าปลีกมีแนวโน้มหดตัวเฉลี่ย 2.2% ในปี 2564 ก่อนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2.3-4.0% ต่อปีในปี 2565-2566 ขณะที่ผู้ประกอบการยังคงมีแผนเปิดโครงการพื้นที่ค้าปลีกใหม่อย่างต่อเนื่องในระยะ 3 ปีข้างหน้า โดยรวมกว่า 1 ล้านตารางเมตร ได้แก่ เซ็นทรัล วิลเลจ (เฟส 2) เทอมินอล 21 พระราม 3 สไมล์ สแควร์ ดิ เอ็มสเฟียร์ เป็นต้น โดยอุปทานใหม่ส่วนใหญ่จะสร้างเสร็จในปี 2565 ประมาณ 460,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุนสัดส่วนถึง 80% ของพื้นที่ค้าปลีกทั้งหมด (ภาพที่ 18) ส่งผลให้อัตราการเช่าพื้นที่เฉลี่ยปรับลดลงสู่ระดับ 88-91% (ภาพที่ 20) สอดคล้องกับค่าเช่าพื้นที่เฉลี่ยซึ่งคาดว่าจะปรับลดลงจากผลกระทบของ COVID-19 ทำให้ผู้เช่าจำนวนมากยกเลิกสัญญาเช่า หรือมีการต่อรองขอลดค่าเช่า
ภูมิทัศน์ของธุรกิจที่เปลี่ยนไปและการปรับตัวของผู้ประกอบการภายหลัง COVID-19 จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่สามารถซื้อสินค้าผ่านร้านค้าออนไลน์ (E-commerce) แพลตฟอร์มต่างๆ ได้สะดวกในยุคดิจิทัล ทำให้ผู้ประกอบการมีแนวโน้มปรับกลยุทธ์เพื่อจูงใจผู้บริโภคให้เข้ามาใช้บริการศูนย์การค้ามากขึ้น โดยการปรับปรุงพื้นที่ค้าปลีกให้ทันสมัยหรือการจัดการพื้นที่ให้มี function ใหม่ๆ อาทิ การผสมผสานระหว่างพื้นที่ในร่มและพื้นที่กลางแจ้ง เพิ่มพื้นที่สันทนาการที่เหมาะกับครอบครัว โซนที่เป็นมิตรกับสัตว์เลี้ยง เพื่อสร้างประสบการณ์ช้อปปิ้งที่หลากหลายและรองรับความต้องการในรูปแบบใหม่ๆ ของลูกค้าได้ครบวงจรในที่เดียว ด้านการเช่าพื้นที่ผู้ประกอบการพื้นที่ค้าปลีกมีการปรับเงื่อนไขการเช่าให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นสำหรับผู้เช่าพื้นที่เดิม รายละเอียดดังนี้
นอกจากนี้ จากสภาวะตลาดและการแข่งขันในพื้นที่ใจกลางเมืองของกรุงเทพฯ ที่มีศูนย์การค้าขนาดใหญ่กระจายตัวอยู่มากมาย อีกทั้งที่ดินใจกลางเมืองหายากและราคาสูง ทําให้โอกาสทางธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าวมีค่อนข้างจํากัด ผู้ประกอบการจึงหันไปเน้นขยายการลงทุนในพื้นที่แถบชานเมืองรอบนอกกรุงเทพฯ เพื่อขยายฐานลูกค้ากลุ่มคนไทยในพื้นที่มากขึ้น รวมถึงขยายสู่ตลาดต่างจังหวัดที่มีกําลังซื้อมากพอเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจและทดแทนกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติที่ทยอยฟื้นตัวอย่างช้าๆ
ปี 2564-2566 ธุรกิจพื้นที่ค้าปลีกทยอยฟื้นตัว อานิสงส์จากกำลังซื้อที่มีแนวโน้มกระเตื้องขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจและธุรกิจค้าปลีกที่พึ่งพาภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะพื้นที่ค้าปลีกในใจกลางเมืองที่เน้นลูกค้าชาวต่างชาติเป็นหลัก การแข่งขันจึงมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นอาจเป็นข้อจำกัดในการทำกำไรของผู้ประกอบการ
[1]พื้นที่ค้าปลีก หมายถึง ศูนย์การค้า 3 ประเภท ได้แก่ ศูนย์การค้าแบบปิด คอมมูนิตี้มอลล์ และพื้นที่ค้าปลีกสนับสนุน
[2]จังหวัดหลักของภูมิภาค หมายถึง พื้นที่ต่างจังหวัด (ไม่รวมปริมณฑล) ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก และศูนย์กลางความเจริญในแต่ละภูมิภาค ได้แก่ เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก ขอนแก่น นครราชสีมา ชลบุรี ระยอง เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สงขลา สุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา และภูเก็ต
[3]โครงการอสังหาริมทรัพย์แบบผสมผสาน (Mixed-use real estate) คือ โครงการที่มีทั้งอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอยู่อาศัยและอสังหาริมทรัพย์เพื่อพาณิชยกรรม โดยมีรูปแบบโครงการที่ประกอบด้วยทั้ง ศูนย์การค้า สำนักงาน และที่อยู่อาศัยอยู่ภายในโครงการเดียวกัน