โดยทั่วไปอสังหาริมทรัพย์แบ่งออกเป็น 3 ประเภทหลัก ได้แก่ ที่อยู่อาศัยพาณิชยกรรม และอุตสาหกรรม อสังหาริมทรัพย์ประเภทที่อยู่อาศัยมีสัดส่วนสูงสุดประมาณ 2 ใน 3 ของมูลค่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย (ที่มา: World Bank) ทั้งนี้ ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ ประเภทที่อยู่อาศัยจะเน้นทำตลาดลูกค้าคนไทยเป็นหลัก เนื่องจากกฎหมายไทยอนุญาตให้ต่างชาติเข้าซื้อและถือครองกรรมสิทธิ์ได้เฉพาะโครงการอาคารชุด แต่จะต้องไม่เกิน 49% ของพื้นที่ขายทั้งหมดของอาคารชุดนั้น ส่วนที่อยู่อาศัยประเภทบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ชาวต่างชาติสามารถถือครองได้ภายใต้เงื่อนไขและข้อจำกัดที่เข้มงวดมากกว่า
ที่อยู่อาศัยในพื้นที่ต่างจังหวัดมีสัดส่วนเฉลี่ย 60% ของการขออนุญาตก่อสร้างที่อยู่อาศัยทั้งหมด (ภาพที่ 1) การพัฒนาโครงการส่วนใหญ่เป็นบ้านแนวราบ[2]มากกว่าแนวสูง (ภาพที่ 2) เนื่องจากยังมีพื้นที่ว่างอยู่มาก ประกอบกับราคาที่ดินยังไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ ราคาเฉลี่ยต่อพื้นที่ของบ้านแนวราบมีความคุ้มค่ามากกว่าคอนโดมิเนียมซึ่งมีต้นทุนการก่อสร้างต่อตารางเมตรสูงกว่า ตลาดภูมิภาคจึงตอบรับบ้านแนวราบมากกว่าคอนโดมิเนียม อย่างไรก็ตาม ธุรกิจยังเติบโตได้ค่อนข้างจำกัด เนื่องจากกำลังซื้อยังมีความไม่แน่นอน จึงส่งผลต่อทิศทางการพัฒนาในแต่ละช่วงเวลา (ตารางที่ 1)
ธุรกิจที่อยู่อาศัยในภูมิภาคเติบโตและกระจุกตัวใน 6 จังหวัดหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น และภูเก็ต สะท้อนจากการขออนุญาตก่อสร้างปี 2562 มีสัดส่วนรวมกันอยู่ที่ 23% ของพื้นที่ขออนุญาตทั้งหมดทั่วประเทศ (แนวราบสัดส่วน 24%และแนวสูง 13% ของพื้นที่ขออนุญาตแนวราบและแนวสูงทั่วประเทศ ตามลำดับ) และ 39% ของพื้นที่ต่างจังหวัดทั้งหมด (แนวราบสัดส่วน 37% และแนวสูง 73% ของพื้นที่ขออนุญาตทั้งแนวราบและแนวสูงในต่างจังหวัดตามลำดับ) (ภาพที่ 4 และ 5) ผลจากศักยภาพของพื้นที่ซึ่งมีทั้งเมืองศูนย์กลางเศรษฐกิจ อุตสาหกรรม การค้า การลงทุน การท่องเที่ยวและการศึกษา ทั้งยังได้อานิสงส์จากนโยบายกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคของภาครัฐที่ช่วยขับเคลื่อนการเติบโต อาทิ แผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community) และการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ปัจจัยข้างต้นก่อให้เกิดการจ้างงาน การย้ายถิ่นฐานและการขยายตัวของชุมชนเมือง ทำให้ความหนาแน่นของประชากรในพื้นที่เพิ่มขึ้น (ประชากรแฝงที่ย้ายเข้ามาพำนักเพื่อศึกษาและทำงาน รวมถึงชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงาน) นำมาสู่การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และโครงการที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะแนวราบ เนื่องจากราคาที่ดินยังไม่สูงมากนัก
ความต้องการที่อยู่อาศัยแนวสูง (คอนโดมิเนียม) เป็นที่นิยมในจังหวัดหลักที่เป็นเมืองท่องเที่ยว ได้แก่ ชลบุรี เชียงใหม่ และภูเก็ต เพื่อรองรับอุปสงค์ชาวต่างชาติ ซึ่งมีทั้งซื้อและเช่าเพื่อเป็นบ้านพัก/บ้านหลังที่สอง หรือเพื่อลงทุน (ปี 2562 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของ 3 จังหวัดรวมกันมีสัดส่วน 31% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ขณะที่รายได้มีสัดส่วน 40% ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด) ส่วนอุปสงค์ลูกค้าคนไทยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญช่วงหลังน้ำท่วมใหญ่ปลายปี 2554 ผนวกกับตลาดที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลเริ่มอิ่มตัว มีการแข่งขันสูง และราคาที่ดินในทำเลศักยภาพปรับขึ้นต่อเนื่อง ผู้ประกอบการรายใหญ่จากส่วนกลางและท้องถิ่นจึงหันมาพัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมในจังหวัดหลักมากขึ้น โดยเฉพาะเชียงใหม่ ชลบุรี ระยองและขอนแก่น ทำให้จำนวนโครงการคอนโดมิเนียมขยายตัวเร่งขึ้นในช่วงปี 2555-2556 สะท้อนจากการขออนุญาตก่อสร้างคอนโดมีเนียม ปี 2555 อยู่ที่ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
ตลาดที่อยู่อาศัยใน 6 จังหวัดหลักยังพัฒนาไปได้ไม่มากจึงมีโอกาสเติบโตสูงในระยะข้างหน้า โดยแต่ละทำเลจะมีกลุ่มลูกค้าที่แตกต่างกัน กล่าวคือ เชียงใหม่ กลุ่มลูกค้าหลักคือคนไทย ส่วนอุปสงค์ต่างชาติจะมาจากชาวจีนที่นิยมลงทุนคอนโดมิเนียม เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาติเดียวกันที่เดินทางเข้าไปในพื้นที่ ภูเก็ต ลูกค้าหลัก คือ ชาวจีน/ฮ่องกง ซึ่งมักซื้อแบบเหมายกชั้นหรือเหมาอาคารในโครงการที่มีหลายอาคาร รวมถึงกลุ่มผู้ซื้อเพื่อลงทุนจากสิงคโปร์และรัสเซีย ชลบุรี ลูกค้าหลัก คือ นักลงทุนจีนและยุโรป ระยอง ลูกค้าหลักเป็นคนไทย ส่วนใหญ่ทำงานในนิคมอุตสาหกรรม หากเป็นบ้านเดี่ยวจะเป็นกลุ่มที่มีรายได้สูง ส่วนทาวน์เฮ้าส์และคอนโดมิเนียมจะเป็นกลุ่มพนักงานระดับปฎิบัติการ โดยชลบุรีและระยองยังได้อานิสงส์จากโครงการ EEC ซึ่งภาครัฐมีแผนพัฒนาด้านการคมนาคม อาทิ รถไฟฟ้าความเร็วสูง และสนามบินอู่ตะเภา ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาฯ เร่งเข้ามาพัฒนาพื้นที่จำนวนมาก นครราชสีมา ลูกค้าบ้านจัดสรรส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น กระจุกตัวบริเวณอำเภอเมือง ส่วนลูกค้าคอนโดมิเนียมมีทั้งกลุ่มที่ซื้อเพื่ออยู่อาศัย/เข้ามาศึกษา/ทำงาน และซื้อเพื่อลงทุนให้เช่า หากเป็นอำเภอปากช่องจะเป็นกลุ่มลูกค้าไฮเอนด์ที่ต้องการมีบ้านพักตากอากาศหรือบ้านพักหลังเกษียณ ขอนแก่น ลูกค้าหลักเป็นคนในพื้นที่ มีรายได้จากเงินเดือน ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ และลูกค้าประเภทธุรกิจส่วนตัวหรือค้าขาย
ปี 2559-2560 ตลาดที่อยู่อาศัยใน 6 จังหวัดหลักถูกกดดันจากกำลังซื้อที่ซบเซาตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำกระทบเศรษฐกิจภูมิภาคโดยเฉพาะกลุ่มรายได้ระดับกลางถึงล่าง ส่งผลให้อุปทานที่อยู่อาศัยสะสมค่อนข้างมากจากโครงการที่เปิดในช่วงก่อนหน้า (โดยเฉพาะคอนโดมีเนียม) ยกเว้นภูเก็ตซึ่งตลาดที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมยังคงเติบโตดีจากกำลังซื้อของนักลงทุนชาวจีน ฮ่องกง สิงคโปร์และรัสเซีย โดยเฉพาะอสังหาฯ ระดับไฮเอนด์ซึ่งราคาปรับขึ้นต่อเนื่องจากอุปทานที่มีอยู่จำกัด ณ สิ้นปี 2560 จำนวนยูนิตสะสมของบ้านแนวราบอยู่ที่ 50,039 ยูนิต และคอนโดมีเนียมอยู่ที่ 20,517 ยูนิต
ปี 2561 ตลาดที่อยู่อาศัยทยอยฟื้นตัวสอดคล้องกับเศรษฐกิจไทยที่เติบโตสูงถึง 4.1% ขณะที่ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเฉลี่ยที่ 67.1 เพิ่มขึ้นจาก 64.6 ปี 2560 ผนวกกับเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีทำให้อุปสงค์ที่อยู่อาศัยจากลูกค้าต่างชาติเติบโตเร่งขึ้น โดยเฉพาะชาวจีนมีสัดส่วนการซื้อคอนโดมิเนียมถึง 43% ของชาวต่างชาติทั้งหมด จาก 28% ปี 2560 (ภาพที่ 6) ส่งผลให้ผู้ประกอบการเร่งพัฒนาโครงการเพื่อสนองตอบความต้องการที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากยูนิตเปิดใหม่ของที่อยู่อาศัยแนวราบเพิ่มขึ้น 364.9% และคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้น 1,247% จากปี 2560 (ภาพที่ 7) โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ชลบุรี ภูเก็ต และเมืองอุตสาหกรรม เช่น ระยอง ด้านยอดขายที่อยู่อาศัยได้อานิสงส์จากผู้ซื้อที่เร่งโอนกรรมสิทธิ์ (ภาพที่ 8) ก่อนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ใช้มาตรการเพิ่มความเข้มงวดของเกณฑ์กำกับดูแลสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน (Loan to Value Ratio: LTV Ratio) (ตารางที่ 2) ในปี 2562 ส่งผลให้ยอดขายทั้งปีเพิ่มขึ้น 160% จากปีก่อนหน้า (ภาพที่ 10)
ปี 2562 ตลาดที่อยู่อาศัยถูกกดดันจากกำลังซื้อชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่การใช้มาตรการ LTV ของ ธปท. ทำให้ผู้ต้องการบ้านหลังที่ 2 บางส่วนชะลอการซื้อออกไปเนื่องจากต้องใช้เงินดาวน์จำนวนมากขึ้น และบางส่วนไม่สามารถขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินและโอนกรรมสิทธิ์ได้ ประกอบกับเงินบาทแข็งค่า 8.8% ทำให้ต้นทุนการซื้อเพิ่มขึ้นสำหรับนักลงทุนต่างชาติ ด้านจีนซึ่งเป็นนักลงทุนหลักในหลายพื้นที่ยังเผชิญปัจจัยลบจากเงินหยวนอ่อนค่า และทางการจีนเพิ่มความเข้มงวดในการควบคุมเงินทุนไหลออก ทำให้การโอนเงินเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยในไทยมีความยุ่งยากมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาครัฐทยอยออกมาตรการกระตุ้นความต้องการซื้อเพื่ออยู่อาศัยจริง เพื่อระบายสต็อกคงค้างที่อยู่ในระดับสูง ได้แก่ การลดหย่อนภาษีสำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยหลังแรกราคาไม่เกิน 5 ล้านบาท[3] การปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือ 0.01%[4] และมาตรการลดภาระผู้ซื้อผ่านโครงการ "บ้านดีมีดาวน์”[5]/ รวมถึงการออกพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 ซึ่งอนุญาตให้คนต่างด้าวได้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาริมทรัพย์]6] ในพื้นที่ EEC ส่งผลให้การเปิดขายโครงการใหม่และยอดขายบ้านแนวราบในชลบุรีและระยองเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
สรุปภาวะตลาดที่อยู่อาศัยใน 6 จังหวัดหลักปี 2562 การเปิดขายโครงการใหม่อยู่ที่ 36,706 ยูนิต เพิ่มขึ้น 5.6% จากปี 2561 ยอดขายอยู่ที่ 32,264 ยูนิต หดตัว 0.1% และจำนวนยูนิตเหลือขายสะสมอยู่ที่ 90,895 ยูนิต เพิ่มขึ้น 18.7%
ปี 2563 ธุรกิจที่อยู่อาศัยซบเซารุนแรงทั้งแนวราบและแนวสูง ผลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสะดุดลงโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว อีกทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานล่าช้า รวมถึงภาวะภัยแล้งรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปีกระทบกำลังซื้อต่างจังหวัด ตลอดจนความเชื่อมั่นผู้บริโภคเฉลี่ยต่ำสุดในรอบ 10 ปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการเปิดโครงการใหม่ ส่วนผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศชะลอการตัดสินใจซื้อ เลื่อน/ยกเลิกการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจากรายได้ที่หายไปและความไม่มั่นใจสถานการณ์ในอนาคต โดยสถานการณ์ช่วงครึ่งแรกของปี 2563 สรุปได้ดังนี้
[1] ที่อยู่อาศัยในจังหวัดหลักของภูมิภาค ประกอบด้วย 6 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น และภูเก็ต
[2] บ้านแนวราบ ได้แก่ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และทาวน์เฮ้าส์
[3] มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับผู้ซื้อบ้านพร้อมที่ดินหรือคอนโดมิเนียมหลังแรกมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท หักตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท มีผล 30 เม.ย. - 31 ธ.ค.2562
[4] มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน 2% และจดจำนอง 1% เหลือ 0.01% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ แบ่งเป็น (1) สำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลางเพื่อซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท มีผล 24 มิ.ย. 2562 ถึง 31 พ.ค. 2563 และ (2) สำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท มีผล 1 พ.ย. 2562 ถึง 24 ธ.ค. 2563
[5] โครงการบ้านดีมีดาวน์ โดยกระทรวงการคลังสนับสนุนเงินดาวน์ 50,000 บาท สำหรับผู้ซื้อบ้านที่มีรายได้ไม่เกิน 1.2 ล้านบาท/ปี รวม 100,000 สิทธิ มีผล 11 ธ.ค. 2562 ถึง 31 มี.ค. 2563
[6] พระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก พ.ศ. 2561 กำหนดให้คนต่างด้าวและนิติบุคคลต่างด้าวในพื้นที่ 3 จังหวัด EEC คือ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ได้สิทธิพิเศษเกี่ยวกับที่ดินและอสังหาฯ ดังนี้ 1. ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามประมวลกฎหมายที่ดินมีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินภายในเขตส่งเสริมฯ เพื่อประกอบกิจการที่ได้รับอนุญาตได้ โดยไม่ต้องได้รับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดิน 2. ให้ผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมฯ ซึ่งเป็นนิติบุคคลและเป็นคนต่างด้าวตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด มีสิทธิถือกรรมสิทธิ์ในห้องชุด โดยได้รับการยกเว้นจากการจำกัดสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
[7] มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอน 2% และจดจำนอง 1% เหลือ 0.01% ของราคาประเมินทุนทรัพย์ สำหรับผู้ซื้อที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท โดยขยายมาตรการออกไปอีก 1 ปี (สิ้นสุด 31 ธ.ค. 2564)
[8] โครงการ Thailand Elite Card กระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ผ่านบัตรสมาชิกในรูปแบบของโปรแกรมพิเศษ "Elite Flexible One" โดยสมาชิกบัตร Elite Flexible One จะต้องมีการลงทุนในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ประเภทคอนโดมิเนียมใหม่ที่ก่อสร้างเสร็จพร้อมอยู่ในประเทศไทย โดยมีมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท ซึ่งห้องชุดที่ซื้อนั้นจะต้องเป็นของผู้ประกอบการรายเดียวกัน หรือบริษัทเดียว แต่สามารถกระจายทำเลในการซื้อห้องชุดได้ ในกรณีที่ห้องชุดมีราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท หรืออาจเลือกซื้อห้องชุดในโครงการเดียวกัน แต่ต้องมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.64 และจะสิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค.65 โดยกำหนดคุณสมบัติดังนี้ - ผู้ซื้ออายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป - จะต้องนำหลักฐานการโอนเงินจากต่างประเทศเพื่อลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ในไทยและหลักฐานยืนยันกรรมสิทธิ์การถือครองอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่ารวมไม่น้อยกว่า 10 ล้านบาท มายื่นสมัครบัตร Elite Flexible One - ต้องผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติตามที่กำหนดด้วย โดยต้องไม่ใช่อาชญากรข้ามชาติ หรือแก๊งฟอกเงินที่มาแอบหลบในไทย
(ที่มา: www.ddproperty.com)