การธนาคารเพื่อความยั่งยืน
กรุงศรีในฐานะสถาบันการเงินที่มีความสำคัญเชิงระบบในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศตระหนักดีว่า การทำหน้าที่เป็น “ตัวกลางทางการเงิน” ในการจัดสรรเงินทุนไปสู่ภาคธุรกิจ สังคม และลูกค้ารายบุคคล ถือเป็นกลไกสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่องและด้วยความมั่นคง กรุงศรีจึงมุ่งเน้นพัฒนาและนำเสนอนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินบนพื้นฐานของการเชื่อมโยงมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และธรรมาภิบาล รวมถึงตอบสนองต่อความคาดหวังของผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มเป็นสำคัญ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม และชุมชนโดยรวม
ในขณะเดียวกันกรุงศรียังคงยึดมั่นการดำเนินธุรกิจตามแนวทาง “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” (Sustainable Banking) โดยยึดถือแนวปฏิบัติด้าน “การให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ” (Responsible Lending) เพื่อให้บรรลุปณิธานที่ตั้งไว้บนหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี
ปี 2562 นับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของภาคอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ไทยในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน กรุงศรีได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการดำเนินธุรกิจตาม "แนวทางการดำเนินธุรกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบ" ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยพร้อมด้วยพันธมิตรธนาคารพาณิชย์อีก 14 แห่ง ซึ่งสะท้อนถึงความร่วมมือระดับประเทศในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบและบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกัน โดยเฉพาะประเด็นปัญหาเร่งด่วนอย่างปัญหาหนี้ครัวเรือน
ปี 2564 กรุงศรีมีความก้าวหน้าในการดำเนินงานตามแนวทางการธนาคารเพื่อความยั่งยืนอย่างมีนัยสำคัญ โดยได้ร่วมพิธีลงนามแสดงเจตจำนงรับในหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Banking: PRB) ของสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (United Nations Environmental Program Finance Initiative: UNEP FI) โดยร่วมกับธนาคารพาณิชย์อีก 12 แห่ง ในงาน “Sustainable Thailand 2021” ซึ่งจัดขึ้นโดยกระทรวงการคลัง กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และองค์การสหประชาชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่สำคัญ
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กรุงศรี จำกัด พร้อมด้วยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอีก 24 แห่ง ยังได้ร่วมพิธีลงนามประกาศเจตนารมณ์รับในหลักการลงทุนที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Investment: PRI) ซึ่งเป็นมาตรฐานด้านการการลงทุนเพื่อความยั่งยืนในระดับสากลในงานดังกล่าวด้วยเช่นกัน
การร่วมลงนามประกาศเจตจำนงของกรุงศรี กรุ๊ป ในครั้งนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการธนาคารและการลงทุนเพื่อความยั่งยืน ในขณะเดียวกันยังส่งเสริมการยกระดับมาตรฐานการดำเนินงานของสถาบันการเงินในประเทศให้เทียบเท่าระดับสากลและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDG) ขององค์การสหประชาชาติอีกด้วย
ปี 2565 กรุงศรี ได้รับการรับรองเป็นผู้ลงนาม (Signatory) รับในหลักการธนาคารที่มีความรับผิดชอบขององค์การสหประชาชาติ (UN Principles for Responsible Banking) อย่างเป็นทางการ ซึ่งเป็นกรอบการทำงานเพื่อการธนาคารอย่างยั่งยืนที่ได้รับการพัฒนาโดยความร่วมมือระหว่างธนาคารทั่วโลกกับสำนักงานโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติว่าด้วยข้อริเริ่มด้านการเงิน (UNEP FI)
หลักการนี้เป็นกรอบการทำงานระดับโลกที่มีความสำคัญ และเอื้ออำนวยให้ธนาคารสามารถกำหนดยุทธศาสตร์และแนวทางปฏิบัติที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสังคมในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติและความตกลงปารีส ทั้งนี้ กรุงศรีลงนามรับหลักการดังกล่าวเช่นเดียวกับธนาคารชั้นนำเกือบ 300 แห่งทั่วโลก โดยมุ่งมั่นวางกลยุทธ์ด้านความยั่งยืนที่มีเป้าหมายที่ท้าทาย พร้อมดำเนินการเพื่อสร้างความตระหนักรู้ ให้ความสำคัญ ตลอดจนปลูกฝังจิตสำนึกด้านความยั่งยืนให้แก่ภาคธุรกิจ อีกทั้งยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธนาคารด้านผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อสังคมและความยั่งยืน
ภายใต้หลักการนี้ ธนาคารผู้ลงนามจะต้องทำการวัดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจของตน รวมทั้งกำหนดและมุ่งบรรลุเป้าหมายที่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงบวกมากที่สุด รวมถึงรายงานความคืบหน้าต่อสาธารณะอย่างสม่ำเสมอ หลักการนี้ได้กำหนดกรอบการดำเนินงานสำหรับธนาคารเพื่อทำให้สามารถทำความเข้าใจความเสี่ยงได้อย่างเป็นระบบ และใช้โอกาสที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อของกรุงศรีว่าธนาคารพาณิชย์มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจ และมีความรับผิดชอบร่วมกันที่จะช่วยสนับสนุนให้ประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาติ และเป้าหมายเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำได้อย่างราบรื่น
ในปี 2564 กรุงศรีได้ปักหมุดสำคัญของธนาคารพาณิชย์ที่มีจุดยืนเพื่อความยั่งยืน ด้วยการประกาศวิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Krungsri Carbon Neutrality Vision) พร้อมแผนงานในการเร่งลดคาร์บอนที่ชัดเจนและปฏิบัติได้จริง ทั้งนี้ ความสำเร็จที่สะท้อนพันธกิจที่มุ่งมั่นของกรุงศรีในการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม ได้แก่ การออกพันธบัตรที่คำนึงถึงเพศสภาพ (Gender Bond) การได้รับรางวัลระดับดีเยี่ยมในโครงการสำนักงานสีเขียว การตั้งเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจก และการส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน (อาทิ การออกและจัดจำหน่ายตราสารหนี้สีเขียว ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน ตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน และสินเชื่อที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานด้านความยั่งยืน) กรุงศรีเป็นบริษัทในเครือของมิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป (MUFG) หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ที่สุดระดับโลก ที่มีวิสัยทัศน์สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Declaration) เช่นกัน
หลักการธนาคารที่รับผิดชอบ (Principles for Responsible Banking: PRB) ประกอบด้วย
- Alignment: การมียุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ความตกลงปารีส (Paris Climate Agreement) และหลักการอื่นที่เกี่ยวข้องในระดับประเทศและภูมิภาค
- Impact & Target Setting: การกำหนดและเผยแพร่เป้าหมายของธนาคารที่สร้างผลลัพธ์เชิงบวกและลดผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ
- Clients & Customers: การปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างรับผิดชอบ การสนับสนุนให้เกิดแนวปฏิบัติที่ยั่งยืนและส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ
- Stakeholders: การส่งเสริมและมีส่วนร่วมกับผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องเพื่อบรรลุเป้าหมายของสังคม
- Governance & Culture: การกำกับดูแลและส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่สอดคล้องกับหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ
- Transparency & Accountability: การทบทวนและเปิดเผยข้อมูลการดำเนินงานตามหลักการธนาคารที่รับผิดชอบ