นโยบายเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน
นโยบายฉบับนี้ครอบคลุมธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) (“ธนาคาร”) และบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารที่ธนาคารถือหุ้นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเกินกว่าร้อยละ 50 หรือที่ธนาคารมีอำนาจควบคุมกิจการ (“บริษัทในเครือ”) ทั้งนี้ บริษัทในเครือจะต้องรับรองและขออนุมัติใช้นโยบายฉบับนี้ หรือนำนโยบายฉบับนี้ไปเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายที่เทียบเท่ากัน
นอกจากนี้ นโยบายฉบับนี้ยังครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียและผู้ทรงสิทธิในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งรวมถึงพนักงาน คู่ค้า ผู้รับเหมา พันธมิตรทางธุรกิจ ลูกค้า และชุมชน รวมถึงกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบาง เช่น สตรี สตรีมีครรภ์ เด็ก ผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ผู้สูงอายุ ผู้ทุพพลภาพ แรงงานข้ามชาติ พนักงานที่ว่าจ้างโดยบุคคลที่สาม กลุ่มชนพื้นเมือง และชุมชนท้องถิ่น ที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินธุรกิจและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องของธนาคาร รวมถึงความสัมพันธ์ทางธุรกิจอื่นๆ ทั้งหมด เช่น กิจการร่วมค้า การควบรวมกิจการ การซื้อกิจการใหม่ เป็นต้น
กรอบการทำงานพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชน
กรุงศรี กรุ๊ปยึดมั่นและให้ความสำคัญต่อประเด็นด้านการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน ตลอดจนแนวปฏิบัติด้านแรงงาน โดยปฏิบัติดูแลพนักงานทุกคนและผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มอย่างเป็นธรรม คำนึงถึงความเสมอภาคของบุคคลและไม่เลือกปฏิบัติ รวมทั้งมุ่งเน้นการบริหารจัดการด้านสิทธิมนุษยชนอย่างเหมาะสมและสอดคล้องตามกฎหมายและหลักการสากลที่เกี่ยวข้องกับแรงงานและสิทธิมนุษยชน อาทิ ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights: UDHR) ปฏิญญาว่าด้วยหลักการและสิทธิขั้นพื้นฐานในการทํางาน (Declaration on Fundamental Principles and Rights at Work) ขององค์กรแรงงานระหว่างประเทศ(International Labour Organization: ILO) หลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (United Nations Guiding Principles on Business and Human Rights: UNGP) ข้อตกลงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Global Compact: UNGC) เป็นต้น เพื่อป้องกันและหลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งเกิดจากการดำเนินธุรกิจของธนาคาร หรือจากกิจกรรมทางธุรกิจของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง เช่น ลูกค้า คู่ค้า พันธมิตรทางธุรกิจ เป็นต้น ธนาคารได้กำหนดแนวปฏิบัติในการร่วมมือกับผู้มีส่วนได้เสียข้างต้น เพื่อให้เป็นไปตามความมุ่งมั่นและหลักการด้านสิทธิมนุษยชนที่กำหนดไว้ในนโยบายฉบับนี้
นโยบายฉบับนี้แสดงถึงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานทั้งหมดของธนาคารตลอดห่วงโซ่คุณค่า เพื่อหยุดยั้งกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ทุกรูปแบบ การใช้แรงงานบังคับและแรงงานเด็ก อันนำมาซึ่งการเคารพสิทธิมนุษยชน อีกทั้งยังรวมถึงการเปิดโอกาสให้มีเสรีภาพในการสมาคมและสิทธิในการเจรจาต่อรองร่วมกัน การจ่ายค่าตอบแทนอย่างเท่าเทียม การรักษาความปลอดภัยของข้อมูลทางดิจิทัลและข้อมูลส่วนบุคคล การดูแลสุขภาพและความปลอดภัย นโยบายฉบับนี้ครอบคลุมกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานที่ยึดมั่นการไม่ยอมรับการกระทำที่เลือกปฏิบัติและการคุกคามในทุกรูปแบบ (เช่น การล่วงละเมิดทางเพศและไม่เกี่ยวข้องกับทางเพศ) และการไม่ใช้การปฏิบัติ ใดๆ ในการรักษาความปลอดภัยที่เป็นการฝ่าฝืนหรือละเมิดสิทธิมนุษยชน
แนวทางการปฏิบัติตามนโยบาย ประกอบด้วย
- ปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มตามกฎหมาย กฎเกณฑ์ และข้อบังคับในระดับประเทศและระดับสากลที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน
- หลีกเลี่ยงการกระทำที่เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยจัดให้มีการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) อย่างเป็นระบบตามระยะเวลาที่กำหนด ด้วยการทบทวนประเด็นความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนที่อาจจะเกิดขึ้น และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน
- สนับสนุนและส่งเสริมการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน ผ่านการสื่อสารและเผยแพร่ให้ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงการกำหนดแนวทางการติดตามตรวจสอบและให้การสนับสนุนแก่ผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจ
- ติดตามผลการดำเนินงานด้านสิทธิมนุษยชนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มั่นใจถึงประสิทธิผลของมาตรการในการควบคุม บรรเทา และการป้องกันการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชน
- จัดทำกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน การแจ้งเบาะแส และกลไกการร้องทุกข์ที่ผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่มและ ผู้ทรงสิทธิที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงเพื่อแจ้งหรือรายงานการละเมิดเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนได้
1. แนวปฏิบัติต่อผู้มีส่วนได้เสีย
กรุงศรี กรุ๊ปมุ่งมั่นที่จะกำหนดกรอบการทำงานพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนให้ครอบคลุมผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม รวมทั้งดำเนินการหารือและสื่อสารเกี่ยวกับกรอบการทำงานพื้นฐานด้านสิทธิมนุษยชนนี้ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้เสียเคารพในหลักการด้านสิทธิมนุษยชน
พนักงาน
- ยึดมั่นการปฏิบัติตามกฎหมายด้านแรงงานและการจ้างงานอย่างเป็นธรรม และเคารพสิทธิมนุษยชน เช่น การให้เสรีภาพในการสมาคม ความเป็นส่วนตัว ระยะเวลาทำงาน ค่าตอบแทนที่เท่าเทียม การเลือกปฏิบัติในการจ้างงาน ทั้งนี้ กรุงศรี กรุ๊ป จะไม่ยอมรับและทนต่อการล่วงละเมิดทั้งทางเพศ และการล่วงละเมิดอื่นๆ ในทุกรูปแบบ การใช้อำนาจบังคับขู่เข็ญ การค้ามนุษย์ การบังคับใช้แรงงาน และการใช้แรงงานเด็ก
- ไม่ยอมรับการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบที่เกี่ยวข้องกับเชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว ศาสนา เผ่าพันธุ์ เพศ (รวมถึงการตั้งครรภ์) รสนิยมทางเพศ อายุ ความทุพพลภาพ เป็นต้น เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมความหลากหลายและการยอมรับความแตกต่างอย่างเท่าเทียม
- จัดให้มีสภาพแวดล้อมการทำงานที่ปราศจากการล่วงละเมิด การคุกคาม ขู่เข็ญ การกลั่นแกล้ง รวมทั้งพฤติกรรมที่ผิดศีลธรรมอื่น ๆ ทั้งทางกายและทางวาจา อันจะนำมาซึ่งการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- เคารพสิทธิและความเป็นส่วนตัวของพนักงาน ตลอดจนปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกการเคารพสิทธิของผู้อื่นแก่พนักงาน
- ส่งเสริมและเปิดโอกาสให้พนักงานมีเสรีภาพในการสมาคมและเจรจาต่อรองร่วม เพื่อรักษาผลประโยชน์ของพนักงานได้ตามที่กฎหมายกำหนด
ลูกค้า
- ดูแลให้การดำเนินธุรกิจตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของธนาคารและบริษัทในเครือ ไม่ให้ส่งผลกระทบเชิงลบและไม่ละเมิดสิทธิของลูกค้า ในกรณีที่เกิดผลกระทบเชิงลบเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนของลูกค้า ธนาคารและบริษัทในเครือ จะจัดให้มีการดำเนินการแก้ไขและจัดหามาตรการเยียวยาอย่างเหมาะสม
- ปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม โดยไม่คำนึงถึงเพศ อายุ เชื้อชาติ สัญชาติ สีผิว ความเชื่อ ศาสนา เผ่าพันธุ์ สถานะทางสังคม ชาติกำเนิด ความทุพพลภาพ เป็นต้น
- ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การบริหารจัดการด้านการให้บริการลูกค้าอย่างเป็นธรรม (Market Conduct) ตามเงื่อนไขที่หน่วยงานทางการและระเบียบภายในของธนาคารกำหนด อาทิ กระบวนการขายผลิตภัณฑ์และการให้บริการต่างๆ ไม่รบกวนความเป็นส่วนตัวของลููกค้า รวมทั้งไม่ใช้อำนาจในการต่อรอง กดดันให้ลูกค้าทำธุรกรรม เป็นต้น
- ปกป้องและดูแลรักษาข้อมูลของลูกค้าให้ปลอดภัย โดยคำนึงถึงความเป็นส่วนตัวของลูกค้าและการเคารพสิทธิมนุษยชน รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด
- นำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาสนับสนุนสินเชื่อแก่ภาคธุรกิจ ตามที่ระบุในนโยบายเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงด้านสินเชื่อ (Policy for Credit Risk Management) โดยธนาคารไม่มีนโยบายสนับสนุุนสินเชื่อแก่ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงานเด็กหรือแรงงานผิดกฎหมาย ชุมชนสัมพันธ์และสิทธิชุมชน เป็นต้น
คู่ค้า
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้คู่ค้าปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและแนวปฏิบัติด้านแรงงาน ตามที่ระบุไว้ในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี และจรรยาบรรณคู่ค้า (Supplier Code of Conduct) ของธนาคาร โดยคาดหวังให้คู่ค้านำหลักการดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินธุรกิจของคู่ค้า
- กำหนดกระบวนการคัดสรรคู่ค้าอย่างเป็นธรรมและให้โอกาสที่เท่าเทียมแก่คู่ค้าทุกราย รวมทั้งนำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาคัดเลือก
คู่ค้า
- ปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของคู่ค้าและหลีกเลี่ยงการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลของคู่ค้า และเคารพสิทธิมนุษยชนของคู่ค้า
- ดำเนินการตรวจสอบให้มั่นใจว่าผู้ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่ได้รับการว่าจ้าง ไม่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนทุกรูปแบบ
พันธมิตรทางธุรกิจ
- นำประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนมาเป็นปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาลงทุนร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร อาทิ การซื้อกิจการ การร่วมทุน การจัดสรรพอร์ตการลงทุน เป็นต้น
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้พันธมิตรทางธุรกิจปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและแนวปฏิบัติด้านแรงงาน
ชุมชนท้องถิ่น
- ดำเนินการตรวจสอบให้มั่นใจว่ากิจกรรมทางธุรกิจตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่าของธนาคาร ไม่ส่งผลกระทบเชิงลบและไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อชุมชนท้องถิ่น หากพบว่าการดำเนินงานทำให้เกิดผลกระทบเชิงลบ ธนาคารและบริษัทในเครือ จะดำเนินการแก้ไขและจัดหามาตรการเยียวยาอย่างเหมาะสม
2. กระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชน (Human Rights Due Diligence)
กรุงศรี กรุ๊ปได้กำหนดกระบวนการตรวจสอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน ดังนี้
- บูรณาการประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนเข้ากับการประเมินความเสี่ยงของธนาคารอย่างเป็นระบบ โดยมีการประเมินความเสี่ยงและผลกระทบด้านการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นจริง หรือมีแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินงานของธนาคาร ตลอดทั้งห่วงโซ่คุณค่า รวมทั้งความสัมพันธ์ของธุรกิจที่เกิดขึ้นใหม่ (การควบรวมกิจการ การเข้าซื้อกิจการ และกิจการร่วมค้า) ตามระยะเวลาที่กำหนด
- บูรณาการนโยบายสิทธิมนุษยชนเข้ากับกลไกการควบคุมภายในและภายนอกองค์กร อาทิ กำหนดกลุ่มผู้มีส่วนได้เสียที่ได้รับผลกระทบ ประกาศถ้อยแถลงและนโยบายสิทธิมนุษยชน โดยมีการเพิ่มประเด็นสิทธิมนุษยชนลงในนโยบายที่มีอยู่แล้ว
- ดำเนินการวางแผนและกำหนดแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชน
- จัดให้มีกระบวนการเยียวยาและบรรเทาผลกระทบตามที่ธนาคารเห็นสมควรและเหมาะสมตามแต่กรณี
- ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานแก่ผู้บริหาร และคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
3. การรับเรื่องร้องเรียน
กรุงศรี กรุ๊ปได้กำหนดหลักการพื้นฐานด้านการแจ้งเบาะแสและการร้องเรียนเกี่ยวกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ผ่านช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือเรื่องร้องเรียน (Whistleblowing Channels) ของธนาคาร โดยส่งเสริมให้มีการรายงานการกระทำของพนักงานหรือผู้เกี่ยวข้องที่อาจละเมิดและฝ่าฝืนกฎหมาย นโยบาย ระเบียบปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ยังมีการคุ้มครองผู้ร้องเรียนและบุคคลที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนมีการติดตามและตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมทั้งรายงานความคืบหน้าและผลการดำเนินงานแก้ไขปัญหาต่อผู้แจ้งเบาะแสหรือผู้ร้องเรียน พร้อมทั้งแจ้งคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องรับทราบ