การจัดการสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ
กรุงศรีในฐานะผู้ให้บริการทางการเงินอย่างรับผิดชอบตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ธนาคารจึงมีความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการส่งเสริมและผลักดันให้เกิดผลลัพธ์เชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม แม้ว่าการดำเนินธุรกิจธนาคารอาจจะไม่ได้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อมก็ตาม
กรุงศรีจึงได้กำหนดกรอบการดำเนินงานและการจัดการสิ่งแวดล้อมภายในองค์กรอย่างชัดเจน พร้อมทั้งส่งเสริม รณรงค์ และกระตุ้นให้ทุกภาคส่วนในองค์กรไม่ว่าจะเป็นผู้บริหาร พนักงานทุกระดับ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่นๆ ให้ความสำคัญกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด ตลอดจนสรรหาแนวทางการลดการใช้ทรัพยากรควบคู่ไปกับการลดปริมาณขยะหรือของเสียที่เกิดขึ้นจากการใช้ทรัพยากรและกระบวนการทำงาน ด้วยเล็งเห็นว่าภาคธุรกิจการธนาคารถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการบริโภคทรัพยากรต่างๆ เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้า กระดาษ และน้ำมัน เป็นต้น
การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพจะสามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายและลดความเสี่ยงด้านการเงินที่อาจเกิดขึ้นจากการละเมิดกฎหมาย และ/หรือข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยพัฒนาการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมทั้งในระดับประเทศและระดับสากลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น รวมทั้งตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ เป้าหมายที่ 12: การมีแบบแผนการผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ เป้าหมายที่ 13: การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเป้าหมายที่ 17: ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Partnerships for the Goals) อีกด้วย
แนวทางการบริหารจัดการ
กรุงศรีกำหนดแนวทางการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้
- กำหนด “นโยบายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร อาชีวอนามัย และความปลอดภัย” เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนใช้เป็นแนวทางในการกำหนดมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร รวมถึงปฏิบัติตามกฎหมายและกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยผู้บริหารพนักงานทุกระดับ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกองค์กร ต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการทั้ง 11 ด้าน ดังนี้
- มาตรการด้านการใช้นํ้า
- สื่อสาร และ/หรือจัดกิจกรรมรณรงค์การใช้นํ้าอย่างถูกวิธีและมีประสิทธิภาพ
- กำหนดระยะเวลาการใช้นํ้าที่เหมาะสม อาทิ การรดนํ้าต้นไม้ การล้างพื้นบริเวณด้านหน้าอาคาร เป็นต้น
- เลือกใช้อุปกรณ์และสุขภัณฑ์ที่ประหยัดนํ้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- กำหนดรูปแบบการนำนํ้าทิ้งกลับมาใช้ใหม่ อาทิ การนำนํ้าทิ้งไปบำบัดตามขั้นตอนที่ได้มาตรฐานและนำนํ้ากลับมาใช้ใหม่สำหรับกิจกรรมบางประเภท
- จัดทำข้อมูลการใช้นํ้าแต่ละเดือน
- มาตรการด้านการใช้พลังงาน
- สื่อสาร และ/หรือการจัดกิจกรรมรณรงค์การประหยัดพลังงาน
- กำหนดระยะเวลาการใช้ไฟฟ้าที่เหมาะสม อาทิ การเปิด-ปิดไฟส่องสว่าง การเปิด-ปิดเครื่องปรับอากาศ และอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่น ๆ ให้เหมาะสมกับช่วงเวลาการปฏิบัติงาน
- ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน ซึ่งพลังงานทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- จัดทำข้อมูลการใช้ไฟฟ้าแต่ละเดือน
- มาตรการด้านการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิง
- สื่อสารและ/หรือการรณรงค์เรื่องการดับเครื่องยนต์ทุกครั้งที่จอดรถเป็นเวลานาน
- รณรงค์และส่งเสริมให้พนักงานใช้รถจักรยาน รถขนส่งสาธารณะ และ/หรือการใช้รถเดินทางร่วมกัน ในการเดินทางมาปฏิบัติงาน
- วางแผนการเดินทางที่เหมาะสมเพื่อประหยัดนํ้ามันเชื้อเพลิง อาทิ แผนการเดินรถตู้โดยสารของส่วนกลาง เป็นต้น
- จัดทำข้อมูลการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงแต่ละเดือน
- มาตรการด้านการใช้กระดาษ หมึกพิมพ์ อุปกรณ์ และวัสดุสำนักงาน
- สื่อสารและสร้างความตระหนักด้านการใช้กระดาษ หมึกพิมพ์ อุปกรณ์ และวัสดุสำนักงาน
- กำหนดรูปแบบการใช้กระดาษ หมึกพิมพ์ อุปกรณ์ และวัสดุสำนักงาน ที่เหมาะสมกับลักษณะงาน
- ส่งเสริมให้มีการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อลดปริมาณการใช้กระดาษ หมึกพิมพ์ อุปกรณ์และวัสดุสำนักงาน
- จัดทำข้อมูลการใช้กระดาษแต่ละเดือน
- มาตรการด้านการบริหารจัดการของเสีย
- สื่อสารให้ความรู้และสร้างความตระหนักเรื่องปัญหาขยะและการจัดการของเสียในองค์กรอย่างสมํ่าเสมอ อาทิ การงดใช้โฟม การลดใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง การส่งเสริมแนวคิด 3Rs (Reduce-Reuse-Recycle) และการลดใช้สารเคมี
- จัดให้มีถังขยะและป้ายบ่งชี้ประเภทขยะที่ชัดเจน และรณรงค์ให้พนักงานมีการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทางตามประเภทที่กำหนด
- จัดให้มีที่พักขยะที่เหมาะสม โดยมีพื้นที่รองรับขยะแต่ละประเภทอย่างพอเพียง
- ส่งเสริมให้มีการนำของเสีย/ขยะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
- จัดทำข้อมูลปริมาณขยะที่ดำเนินการคัดแยกในแต่ละเดือน
- มาตรการด้านการจัดประชุม นิทรรศการ และการจัดกิจกรรม
- กำหนดขนาดห้องประชุมให้เหมาะสมกับจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม
- ส่งเสริมให้มีการประชุมหรือการฝึกอบรมผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อลดปริมาณการใช้กระดาษ หมึกพิมพ์ อุปกรณ์ และวัสดุสำนักงาน ในการจัดประชุมหรือกิจกรรม
- หากมีความจำเป็นต้องใช้สถานที่การจัดประชุมหรือจัดกิจกรรมนอกสถานที่ควรพิจารณาเลือกใช้สถานที่และผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ตามแนวทางการจัดซื้อและจัดจ้างสีเขียว (Green Procurement)
- มาตรการด้านการบริหารจัดการนํ้าเสีย
- กำหนดให้มีการจัดการนํ้าเสียและบำบัดนํ้าเสียอย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ โดยคุณภาพนํ้าทิ้งจะต้องอยู่ในเกณฑ์ค่ามาตรฐานตามกฎหมายกำหนด ก่อนนำกลับมาใช้ซํ้าหรือระบายสู่แหล่งชุมชน
- กำหนดให้มีการตรวจสอบและบำรุงรักษาระบบบำบัดนํ้าเสียอย่างสมํ่าเสมอ
- กำหนดให้มีการตรวจสอบการรั่วไหลของนํ้าเสียอย่างสมํ่าเสมอ
- มาตรการด้านอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ทำงาน
- จัดให้มีแผนป้องกันและระงับอัคคีภัย พร้อมทั้งดูแลจัดการสถานที่ไม่ให้มีวัสดุ หรือลักษณะการทำงาน ที่มีโอกาสเป็นต้นเหตุของการเกิดเพลิงไหม้ รวมถึงจัดให้มีการฝึกซ้อมดับเพลิงและอพยพหนีไฟประจำปี ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของกฎหมาย
- จัดให้มีแผนการบริหารจัดการกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
- จัดให้มีการตรวจประเมินความปลอดภัย สภาพแวดล้อมในการทำงาน ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- จัดให้มีกระบวนการด้านความปลอดภัย ภายในองค์กร ให้เป็นไปตามมาตรฐานของกฎหมายและกฎเกณฑ์สากลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
- จัดให้มีกระบวนการในการบริหารจัดการบุคคลภายนอกที่เข้ามาปฏิบัติงานในทุกพื้นที่ของธนาคาร
- ส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานทุกระดับได้รับการฝึกอบรมด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน
- มาตรการด้านคุณภาพอากาศในสำนักงาน
- กำหนดแผนการควบคุมมลพิษทางอากาศภายในสำนักงาน
- สื่อสารให้ความรู้หรือแจ้งให้พนักงานหรือผู้เกี่ยวข้องทราบเมื่อมีการเกิดมลพิษทางอากาศจากกิจกรรมต่าง ๆ
- รณรงค์และป้องกันมลพิษทางอากาศที่อาจเกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ
- กำหนดแนวทางการควบคุมและลดมลพิษจากเขตก่อสร้างหรือพื้นที่ปรับปรุงภายในอาคาร
- มาตรการด้านแสงสว่างและเสียงรบกวนในสำนักงาน
- กำหนดให้มีการตรวจวัดความเข้มของแสงสว่าง และผลการตรวจวัดจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานกฎหมายกำหนด
- ตรวจสอบและปรับปรุงแสงสว่างในสำนักงานให้เพียงพอและเหมาะสมกับการปฏิบัติงานตามมาตรฐานกฎหมายกำหนด
- กำหนดให้มีการควบคุมมลพิษทางเสียงภายในอาคารสำนักงาน
- สื่อสารให้ความรู้หรือแจ้งให้พนักงานหรือผู้เกี่ยวข้องทราบเมื่อมีการเกิดมลพิษทางเสียงจากกิจกรรมต่าง ๆ
- มาตรการด้านพื้นที่สีเขียว
- กำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวทั้งภายนอกและภายในอาคารสำนักงาน
- กำหนดเจ้าหน้าที่ดูแลรับผิดชอบพื้นที่สีเขียวอย่างเหมาะสม และมีการกำหนดเวลาที่แน่นอนในการดูแลรักษาพื้นที่สีเขียวทั้งภายในและภายนอกอาคารสำนักงาน
ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวครอบคลุมการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของธนาคารและบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินที่ธนาคารถือหุ้นเกินร้อยละ 50 (“บริษัทในเครือ”) โดยบริษัทในเครือจะต้องอนุมัติใช้นโยบายหรือนำนโยบายฉบับนี้ไปเป็นแนวทางในการจัดทำนโยบายที่เทียบเท่ากัน รวมทั้งมีการทบทวนนโยบายดังกล่าวทุกๆ 2 ปี หรือกรณีมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
- แต่งตั้ง “คณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม” เพื่อสนับสนุนกระบวนการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ทรัพยากร และพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบไปด้วยผู้แทนจากฝ่ายงานต่างๆ จำนวน 10 คน โดยคณะทำงานมีหน้าที่รายงานผลการดำเนินงานตรงต่อคณะกรรมการความยั่งยืน
- จัดตั้ง “คณะทำงานด้านการจัดการพลังงาน” ประกอบไปด้วยผู้แทนจากฝ่ายงานต่างๆ จำนวน 9 คน ทำหน้าที่ดูแลและรับผิดชอบการจัดการพลังงานให้สอดคล้องกับนโยบายการอนุรักษ์พลังงานของธนาคาร รวมถึงการจัดอบรมและการประชาสัมพันธ์ด้านการอนุรักษ์และการจัดการพลังงานอย่างเหมาะสม โดยธนาคารจะมีการทบทวนสมาชิกของคณะทำงานด้านการจัดการพลังงานเป็นประจำทุกปี
- มุ่งมั่นในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการเกิดของเสีย รวมถึงลดการปล่อยมลพิษที่จะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรเทาความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป
- พัฒนาและสนับสนุนทางเลือกในการปฏิบัติงานโดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบการทำงานอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ซอฟต์แวร์ (Robotic Process Automation: RPA) เพื่อลดการสิ้นเปลืองพลังงานและทรัพยากร ตลอดจนลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดจากกระบวนการทำงานหรือกระบวนการให้บริการ
- มุ่งสื่อสารและให้ข้อมูลการใช้พลังงาน การใช้ทรัพยากร และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอย่างคุ้มค่า เพื่อสร้างจิตสำนึกและความเข้าใจแก่พนักงาน ชุมชน ลูกค้า หน่วยงานภาครัฐและผู้เกี่ยวข้องอย่างมีความรับผิดชอบ
- กำหนดให้ผู้บริหารและพนักงานทุกระดับร่วมรับผิดชอบและให้ความร่วมมือในการส่งเสริมและปฏิบัติตามนโยบายและมาตรการเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การใช้พลังงานและทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
- จัดให้มีช่องทางการร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสม โดยสามารถแจ้งข้อมูลผ่านช่องทางการแจ้งเบาะแสหรือเรื่องร้องเรียนของธนาคาร เช่น เว็บไซต์ www.krungsri.com/th/esg/contactus, Krungsri Call Center 1572 หรือแจ้งโดยต่อคณะทำงานด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น